วีระวรรธ์ สมนึก เรื่อง 

ร้านอาหารขนาด 20 โต๊ะวันนี้ดูเวิ้งว้าง ขณะที่จอโปรเจกเตอร์ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่หน้าร้านยังคงฉายหนังเพื่อสร้างความบันเทิงให้ลูกค้าที่รับประทานอาหารอย่างต่อเนื่อง  

ทว่าค่ำคืนนี้ร้าน Time 90 ร้านอาหารกึ่งผับในซอยรื่นรมย์กลับร้างไร้ผู้คน แม้ย่านนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืนสำคัญของจังหวัดขอนแก่น เพราะมีโรงแรมระดับ 5 ดาว ขนาบข้างถึง 3 แห่ง ถือเป็นทำเลทองสำหรับธุรกิจที่สร้างความบันเทิงให้กับนักท่องเที่ยว แต่วินาทีนี้ ถนนแห่งความรื่นรมย์นี้แตกต่างจากเมื่อก่อนอย่างเห็นได้ชัด    

“ช่วง 14 วัน ไม่ต้องออกมาเที่ยวก็ได้ค่ะ พักบ้างก็ได้ เพราะทุกคนก็กลัวหมด แม้แต่เราเองก็ยังกลัวเลย” ประวีณา ศรีบุญมี พนักงานเชียร์เบียร์ วัย 26 ปีของร้าน Time 90 กล่าวด้วยเสียงราบเรียบ 

ร้านอาหาร Time 90 ยังคงเปิดหนังผ่านจอโปรเจกส์เตอร์เพื่อสร้างความบันเทิงให้ลูกค้าตามปกติ

แม้ในใจเธอจะหวาดผวากับการระบาดของเชื้อโรคโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่ปากท้องของเธอและครอบครัวที่ต้องถมให้เต็ม ก็ทำให้เธอยังต้องออกมาทำงาน แต่ป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัยและใช้เจลล้างมือบ่อยๆ  

มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นมาตรการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้ออกมาเพื่อปิดสถานบันเทิง สถานศึกษา โรงมหรสพ ฯลฯ รวมถึงแหล่งรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมของผู้คน ได้แก่ สนามชนไก่ สนามกีฬา ฯลฯ เป็นเวลา 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ 18-31 มีนาคม 2563 และประกาศเพิ่มจากวันที่ 23 มีนาคม – 12 เมษายน 2563 เพื่อเป็นหนทางลดการแพร่เชื้อโรคร้าย 

ประวีณา เป็นพนักงานเพียงไม่กี่คนในร้าน “Time 90” ที่ยังมาทำงานอยู่วันนี้ เธอทำงานที่ร้านอาหารแห่งนี้เป็นงานเสริมเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว โดยทำสลับอีกอีกร้านแห่งหนึ่ง 

“ก่อนหน้านี้ บนถนนรื่นรมย์มีนักท่องเที่ยวเยอะมาก โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ลูกค้าจะเริ่มเข้าตั้งแต่เวลา 18.30 น. เป็นต้นไป แต่ตอนนี้บรรยากาศเงียบเหงา แทบไม่มีลูกค้า” เธอกล่าวพร้อมหันหน้าไปมองบรรยากาศในร้านที่ตอนนี้ไม่มีผู้คน 

เธอนั่งห่างจากผู้สัมภาษณ์ประมาณ 1 เมตร ซึ่งอาจจะน้อยกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เว้นระยะห่างจากผู้คนประมาณ 2 เมตร เพื่อลดการแพร่เชื้อ แต่เธอใส่หน้ากากอนามัย อย่างน้อยก็ป้องกันตัวเอง

“ระหว่างร้านเจ๊งกับโควิด เรากลัวโควิด-19 มากกว่าตอนนี้ ทั้งขาดรายได้และกลัวโรค ตอนเห็นข่าวคนขอนแก่นติดเชื้อโควิด-19 คนแรกก็กลัวเลย ทางบ้านก็โทรมาบอกว่าไม่ทำได้ไหม เพราะเขาเป็นห่วง แต่เรายังต้องทำ เพราะต้องจ่ายค่าห้องและค่าใช้จ่ายอื่นๆ” เธอกล่าวพร้อมกับรินเครื่องดื่มให้ผู้สัมภาษณ์  

“ระหว่างร้านเจ๊งกับโควิด เรากลัวโควิดมากกว่า” ประวีณา ศรีบุญมี พนักงานเชียร์เบียร์ประจำร้าน Time 90 ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ

ไม่ว่ามาตรการนี้จะช่วยชะลอการแพร่ระบาดของโรคได้มากน้อยเพียงใด แต่ในทางตรงกันข้ามกลับส่งผลต่อรายรับรายจ่ายของคนในพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด

เราน่าจะรอดจากเชื้อโควิด-19

ร้าน Time 90 เป็นร้านอาหารกึ่งผับบนถนนรื่นรมย์ที่เจ้าของร้านเพิ่งเซ๊งร้านต่อจากเจ้าของคนเดิมได้เพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น แต่เจ้าของคนใหม่กลับต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยที่ไม่ได้เตรียมใจไว้ก่อน 

เจ้าของร้านย้อนเล่าถึงช่วงเปิดร้านใหม่ๆ ที่ทำให้เขามีความหวังว่าธุรกิจร้านอาหารแห่งนี้จะไปรอด ว่าก่อนหน้านี้คนเข้าร้านตลอด แต่หลังจากวันที่ 18 มีนาคมเป็นต้นมาลูกค้าก็น้อยลงผิดปกติ 

“เราน่าจะอยู่ได้ หากคนเริ่มรู้ว่าร้านเปิด คนน่าจะเยอะขึ้น แต่ต้องมีมาตรการเกี่ยวกับความสะอาด” เจ้าของร้าน Time 90 ตอบคำถามถึงความอยู่รอดของธุรกิจ 

อย่างไรก็ตามร้านอาหารกึ่งผับแห่งนี้ต้องเลิกจ้างพนักงานบางคนชั่วคราว อย่างนักดนตรีที่เคยมาเล่นวันละ 3 วง ก็ต้องงดไปโดยปริยาย 

ชะตากรรมการถูกเลิกจ้างชั่วคราวนี้อาจรวมไปถึงแม่ครัว แคชเชียร์ บาร์น้ำ ผู้จัดการ พนักงานเสิร์ฟ และพนักงานเชียร์เบียร์ ทั้งหมดแล้ว 11 คน 

“เราน่าจะอยู่ได้ หากคนเริ่มรู้ว่าร้านเปิด คนน่าจะเยอะขึ้น แต่ต้องมีมาตรการเกี่ยวกับความสะอาด” วสันต์ รัตนวัน เจ้าของกิจการ Time 90 ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ

ร้านเบียร์คราฟต์ยอมรับการขาดทุน 

ร้านอาหารกึ่งบาร์ในจังหวัดขอนแก่นมีชะตากรรมไม่ต่างกัน หลังจากการประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด แทบทุกร้านก็ได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า 

“Let It Beer” เป็นร้านอาหารกึ่งบาร์อีกแห่งหนึ่งที่เน้นขายเครื่องดื่มประเภทคราฟต์เบียร์ บนถนนกังสดาลที่รับไม่ผลกระทบไม่ต่างกัน  

“ถามว่าได้เตรียมการอะไรไหม ก็ไม่ได้เตรียม และเห็นด้วยที่ต้องช่วยกัน”ภูริพงศ์ สุทธิโสทพันธ์ เจ้าของร้านวัย 34 ปี กล่าวถึงมาตรการปิดสถานบันเทิง 14 วัน ของผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น 

เจ้าของร้านอาหารกึ่งบาร์รายนี้กล่าวอีกว่า ตอนนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะร้านมีแต่เบียร์สด จะเก็บได้เพียง 3-7 วัน ถ้าอยู่ในตู้อาจอยู่ได้ 15 วัน หากจะประชาสัมพันธ์ให้คนมา อาจเป็นการเชิญชวนคนให้มารวมตัวกันอีก  

“ผมจำใจยอมขาดทุน สาเหตุที่ยังเปิดอยู่ตอนนี้ เพราะเห็นใจพนักงานครัว เขามีรายได้ทางเดียว ถ้ายังเปิดก็จะทำให้เกิดการรวมตัวกัน ในสำนึกความเป็นพลเมือง เราก็อาจจะรู้สึกผิดว่า เราปล่อยให้มีสถานที่ที่ให้เขามารวมตัวกัน” ภูริพงศ์กล่าวและเสนอว่า “ผมอยากให้สุดโต่งไปเลย คือ ทุกคนกักตัวเอง ไม่ต้องออกไปไหนน่าจะได้ประโยชน์ที่สุด” 

“ผมอยากให้สุดโต่งไปเลย คือทุกคนกักตัวไม่ต้องออกไปไหน น่าจะได้ประโยชน์ที่สุด” ภูริพงศ์ สุทธิโสภาพันธ์ เจ้าของร้าน Let It Beer ภาพโดย วีระวรรธ์ สมนึก

“เดลิเวรี่” ทางรอดร้านอาหารยุคโควิด-19 ระบาด

ส่วน ณัฐณิชา กุลศรี ผู้จัดการร้านวัย 35 ปี เจ้าของร้าน “เชย เชย” ร้านอาหารย่านถนนกังสดาล จ.ขอนแก่น แสดงความเห็นด้วยกับมาตรการที่รัฐบาลประกาศปิดแหล่งแพร่เชื้อ 

“ถ้ายังเปิดร้านอยู่ ก็ต้องไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป และติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อป้องกันตัวเอง พนักงาน และลูกค้า” เจ้าของร้านวัย 35 ปีกล่าวอย่างมุ่งมั่น 

ร้านอาหารแห่งนี้มีพนักงานรวมกัน 5 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่มาทำงานนอกเวลา 

“เมื่อต้องปิดร้าน เราอาจจะเปิดแต่ครัว แล้วจะขยับไปทำอาหารส่งเดลิเวรี่แบบเต็มตัว” เธอเล่าถึงทางรอดของการทำธุรกิจร้านอาหาร 

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศกำหนดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  โดยข้อกำหนดข้อที่ 12 เรื่อง นโยบายยังคงให้เปิดสถานที่ทำการ ระบุให้ร้านอาหาร (ในส่วนที่ไม่ใช่สถานบันเทิงหรือสถานบริการ) และแผงจำหน่ายอาหาร จะสามารถเปิดจำหน่ายได้ตามปกติ แต่ผู้บริโภคจะต้องซื้อไปบริโภคนอกสถานที่

รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (online delivery) ยังคงประกอบกิจการต่อไปได้ตามปกติเพื่อความสะดวกและความเป็นอยู่ตามปกติของประชาชน ทำให้ร้านค้าและร้านอาหารหลายแห่งหันมาใช้บริการออนไลน์และจัดให้มีการบริการส่งอาหารถึงที่มากขึ้น

ด้านสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ที่เป็นผู้ออกมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ตามมติคณะรัฐมนตรี กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบริหารว่า ธุรกิจได้รับความเสียหายอย่างแน่นอน เพราะถือเป็นสถานการณ์ใหม่ที่ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้  

พนักงานในร้านอาหาร Time 90 ที่เป็นร้านอาหารกึ่งผับ นั่งเล่นโทรศัพท์ระหว่างรอลูกค้า ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ

หอการค้าขอนแก่นสร้างแอพพลิเคชั่นช่วยผู้ประกอบการ

ทั้งเว็บไซต์หอการค้าจังหวัดขอนแก่นได้เผยแพร่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และข้อมูลสถาบันการเงินในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ว่าเป็นความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้ธุรกิจ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ หรือ SME อยู่รอด 

ส่วนกมลพงศ์ สงวนตระกูล ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางหอการค้าจังหวัดขอนแก่นประชุมร่วมกับชมรมร้านอาหาร ชมรมหอพัก และภาคธุรกิจอื่นๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานสาธารณสุขของจังหวัดขอนแก่น เป็นความร่วมมือกับศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่นเพื่อทำแอพพลิเคชั่นชื่อ KhonKaen Stop COVID-19 โดยให้สถานประกอบการต่างๆ ตรวจสอบว่า ร้านของตัวเองได้มาตรฐานด้านสาธารณสุขหรือยัง  

“ถ้าร้านไหนได้มาตรฐานผ่านการรับรองจากสาธารณสุข ก็จะได้ป้ายสีเขียวและจะลิงค์บนกูเกิลว่าร้านนั้นปลอดภัยจากเชื้อโควิด” ประธานหอการค้ากล่าวถึงแนวทางในการฟื้นตัวสำหรับสถานประกอบการต่างๆ หลังผ่านพ้นวิกฤตการระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 

เขายังกล่าวอีกว่า ทางหอการค้าและสภาอุตสากรรมจังหวัดขอนแก่นยังได้หามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการระหว่างที่จังหวัดขอนแก่นปิดสถานประกอบการชั่วคราว โดยแบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ 1. มาตรการสำหรับผู้ประกอบการว่าควรทำอย่างไรที่จะยืดระยะเวลาการชำระหนี้และเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ และ 2. พนักงาน ลูกจ้างที่ไม่มีงานทำในช่วงนี้จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร ขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้ออกมาตรการช่วยเหลือทั้ง 2 กลุ่มแล้ว 

ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่นกล่าวทิ้งท้ายว่า “คนขอนแก่นมีข้อดีอย่างหนึ่ง คือ มีความร่วมมือร่วมใจกัน ผมก็หวังว่า เราจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้และกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว”

image_pdfimage_print