ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เรื่องและภาพ 

สิ้นเสียงระเบิดหินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ฝุ่นควันจากรถบรรทุกขนหินก็เริ่มซาลง ใบประทานบัตรการขอทำเหมืองหินก็ไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานของรัฐ ทำให้เอกชนต้องวิ่งวุ่นเพื่อสานต่อการประกอบกิจการ แต่ดูเหมือนหนทางยังอีกยาวไกล  

ถือเป็นการรอคอยของชาวดงมะไฟอันยาวนานกว่า 26 ปี ที่เฝ้ารอให้เหมืองหิน “ออกไป” แล้วคืนสภาพเป็นผืนป่า ภูผาให้ชุมชนเช่นที่เคยเป็นมา

แม้ว่า ภูเขาบางลูกจะโหว่แหว่งจากแรงระเบิดโรงโม่หิน แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงความเป็นธรรมชาติและประวัติศาสตร์อันยาวนาน หลังได้พื้นที่ป่าจากเอกชนชาวตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู จึงเริ่มฟื้นฟูพื้นที่แห่งนี้ด้วยการพยายามให้ “ดงมะไฟกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ประจำจังหวัดหนองบัวลำภู” 

อนันต์ ศรีบุญเรือง ไกด์เด็กวัย 13 ปี ลูกของสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จ.หนองบัวลำภู

ไกด์เด็กแห่งดงมะไฟ 

“ดงมะไฟธรรมชาติยังสวยงาม มีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง ผมโตมาก็อยากเป็นเป็นไกด์ อยากทำงานใกล้บ้าน ไม่อยากออกไปทำงานที่อื่น เพราะผมอยู่กับแม่เพียง 2 คน ผมอยากให้รัฐพัฒนาพื้นที่ดงมะไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้คนมาเที่ยวเยอะๆ” อนันต์ ศรีบุญเรือง ไกด์เด็กวัย 13 ปีเล่าความฝันที่เขามีต่อชุมชนดงมะไฟด้วยแววตาที่เปร่งประกาย 

อนันต์ เล่าต่อว่า เขาใช้เวลาช่วงวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ ทำงานเป็นไกด์พานักท่องเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ดงมะไฟ เพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัวและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของแม่ โดยแบ่งส่วนหนึ่งไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียนหนังสือ 

“อยากให้ภูผาฮวกกลายเป็นตลาดชุมชน ให้คนในชุมชนนำของที่มีในพื้นที่มาขาย เช่น ของป่าหรือของที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมนุมมาขายและให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อของจากชุมชน คนในชุมชนก็จะมีรายได้ด้วย อยากให้เป็นตลาดมากกว่าเหมืองหิน ”เขาเล่าความฝัน 

เทิดพงษ์ อนุเวช หรือ เปี๊ยก สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯ และหนึ่งในไกด์อาวุโสของดงมะไฟ ขณะพาเที่ยวชมถ้ำน้ำลอด

ไกด์อาวุโสกับมรดกของดงมะไฟ 

เทิดพงษ์ อนุเวช หรือ “เปี๊ยก” ไกด์อาวุโสวัย 58 ปี สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ – ผาจันได กล่าวถึงความงามของแหล่งท่องเที่ยวในตำบลดงมะไฟว่า บริเวณนี้มีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง อย่าง ภูผายา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านนาเจริญ ตำบลดงมะไฟ ภายในมีภาพเขียนสี สมัยก่อนประวัติศาสตร์ปรากฏตามผนังหลายส่วน มีอายุกว่า 3,000 ปี มีอายุใกล้เคียงกับผาแต้มที่ จ.อุบลราชธานี 

“เฮาสามารถเฮ็ดให้ดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ดีบ่แพ้หม่องได๋ในประเทศ นอกจากสิมีธรรมชาติสวยงามและอากาศสดชื่นแล้ว ยังมีภาพเขียนสีโบราณนำ”ไกด์อาวุโสกล่าวเชิญชวน 

ภาพเขียนสีภายในถ้ำภูผายา จ.หนองบัวลำภู ซึ่งเป็นภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคใกล้เคียงกับผาแต้ม จ.อุบลราชธานี

ในพื้นที่ตำบลดงมะไฟ จังหวัดหนองบัวลำภู ยังมีโบราณวัตถุที่ถูกค้นพบภายในถ้ำอีกหลายอย่าง เช่น ไหดิน กาน้ำโบราณ เขี้ยวสัตว์ กระดูกสัตว์โบราณที่ทับอยู่กับผนังถ้ำ เครื่องมือการเกษตรโบราณ เครื่องเงิน ดาบโบราณ ซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศให้เป็นเขตที่ดินโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.2548 

นอกจากนี้ยังมีถ้ำอีกหลายแห่งที่มีความงดงาม เช่น ภูผาลอด ที่มีถ้ำเชื่อมต่อกันหลายอัน อาทิ ถ้ำศรีธน ที่มีหินงอกหินย้อย ซึ่งเป็นถ้ำหินปูนเรียงรายส่องแสงระยิบระยับราวกับเพชรเมื่อสะท้อนกับแสง 

บราณวัตถุที่ถูกค้นพบทั้งจากถ้ำศรีธนและถ้ำหินแตก ขณะนี้เก็บไว้พิพิธภัณฑ์ด้านหน้าถ้ำศรีธน

ถ้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสถานที่แห่งนี้ไกด์อาวุโส เล่าว่า พบพระพุทธรูปทองคำประดิษฐานอยู่ภายใน แต่ปัจจุบันได้เคลื่อนย้ายไปไว้ที่อื่น ต่อมาชาวบ้านจึงนำพระพุทธรูปขนาดเล็กเท่าฝ่ามือกว่า 5,000 องค์ไปวางไว้ในถ้ำแทน

ส่วนถ้ำพญานาค มีลักษณะปากถ้ำแคบเหมือนปากพญานาค ชาวบ้านจึงเรียกชื่อว่า “ถ้ำพญานาค” ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับถ้ำศรีธน

นอกจากนี้ยังมีถ้ำเมืองบาดาล ซึ่งเป็นถ้ำที่มีทางเข้าลาดชันลงไปใต้ภูเขา ภายในถ้ำโล่งโปร่ง แต่ถูกแบ่งเป็นห้องด้วยหินงอกหินย้อย ชาวบ้านเชื่อว่า ลักษณะของถ้ำคล้ายกับเมืองบาดาล 

“ยุนี่มีหม่องเที่ยวหลาย เที่ยวมื้อเดียวบ่พอดอก นี่ยังบ่ทันพาไปเบิ่งหม่องปีนเขากับยังบ่ทันพาขึ้นไปเบิ่งยอดภูผายายุ เทิงยอดเขางามคัก เหลียวเห็นฮอดเมืองลาวพุ่นน่ะ บรรยากาศดีเหมาะกับการไปกางเต๊นท์ เบิ่งพระอาทิตย์ตกดินกับพระอาทิตย์ขึ้น เสียดายมื้อนี่ค่ำก่อน”ไกด์อาวุโส กล่าวราวเสียดายที่อดพาชมความงามที่เป็นยอดเพชรของพื้นที่ 

เกือบครึ่งชีวิตของ ไกด์อาวุโสที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของดงมะไฟ ด้วยความหวังว่า อยากให้ที่นี่เป็นเมืองท่องเที่ยว ยังคงอาสาพานักท่องเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อหวังว่า วันหนึ่งจะได้เห็นสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่ใช้เหมืองหินอย่างที่เป็นมากว่า 26 ปี 

“ถ้ำศักดิ์สิทธิ์” เป็นสถานที่พบพระพุทธรูปทองคำที่ขณะนี้ได้ย้ายไปประดิษฐานที่วัดถ้ำสุวรรณ จ.หนองบัวลำภู

การต่อสู้เพื่อทวงคืนวิถีชีวิต

“ป่าและภูเขาเป็นของชุมชน เป็นสิ่งที่ชาวบ้านใช้หาอยู่หากิน หาเห็ด หาหน่อไม้ หาของป่า คนในชุมอยู่กับภูเขามาตั้งแต่เกิดอาศัยกันและกันเสมือนญาติคนหนึ่ง แต่หลังจากเหมืองเข้ามาเฮ็ดให้ชาวบ้านหากินในป่าบ่ได้ กลายเป็นเขตหวงห้าม เวลาระเบิดเหมือง เข้าไปเฮ็ดนากะย่านหินตกใส่หัว ถนนกะมีแต่รถสิบล้อแล่น เฮ็ดให้บ่ปลอดภัย” 

เป็นความเดือดร้อนที่ไพฑูลรย์ วงศ์คำจันทร์ ชาวตำบลดงมะไฟ และสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯ วัย 66 ปี เผชิญมาตลอด 26 ปี นับตั้งแต่บริษัทเอกชนเข้ามาทำเหมืองหินปูน 

เขายังบอกอีกว่า นับตั้งแต่เหมืองหินเข้ามาประกอบกิจการก็สร้างความแตกแยกให้ชุมชน 

“จากเคยกินข้าวนำกันฉันท์ญาติพี่น้องกะกลายเป็นซังกันจนถึงขั้นขู่ฆ่ากันกะมี ทุกอย่างเปลี่ยนไปเบิด บ่คือเก่า”เป็นอีกความเดือดร้อนที่อยู่ในความทรงจำของเขาตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา

“ถ้ำพญานาค” มีลักษณะปากถ้ำแคบเหมือนปากพญานาค ผู้คนพบจึงเรียกชื่อตามลักษณะของถ้ำ

เดิมไพฑูลรย์ เป็นคน จ.อุดรธานี แต่มาพบรักและแต่งงานที่ ต.ดงมะไฟ จึงย้ายมาอยู่กับภรรยาและได้เข้าร่วมต่อสู้เพื่อปกป้องภูผาฮวกจากการทำเหมืองของเอกชนตั้งแต่ลูกสาวคนแรกอายุ 9 เดือน ราวปี 2535

ไพฑูลรย์ เล่าว่า ในช่วงแรกบริษัทเอกชนต้องการ สัมปทานภูผากูดและภูผายา แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากพบภาพเขียนสีโบราณ โดยกรมศิลปากรได้รับรองและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต่อมาบริษัทเอกชนจึงย้ายมาขอสัมปทานบนพื้นที่ผาฮวก 

“เขาไปขอสัมปทานเอาเลย แล้วกะบ่บอกพวกเฮา มีแต่ผู้ว่าฯ มาบอกว่า เขาได้ภูเขาแล้วนะ ชาวบ้านสงสัยเลยไปขอเบิ่งเอกสาร ปรากฏว่าชาวบ้านบ่ได้เซ็นยินยอมให้ใช้พื้นที่” พ่อไพฑูลรย์ กล่าวอย่างแค้นเคือง

ระหว่างการต่อสู้กับบริษัทเอกชนผู้ประกอบการเหมืองหิน ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้จัดการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ โดยเฉพาะความสำคัญของภูเขาแต่ละลูกในดงมะไฟให้กับคนที่สนใจ มีทั้งเด็ก เยาวชนไปจนถึงผู้สูงอายุ เพื่อเป็นไกด์พานักท่องเที่ยวเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ  ด้วยความหวังว่า สักวันจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมเหมืองหินให้เป็นเมืองท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงอนุรักษ์ 

หินงอกหินย้อยที่พบเห็นอยู่เป็นจำนวนมากในถ้ำวังบาดาล

แนวโน้มเมืองท่องเที่ยวที่ไม่มีคำตอบ

หลังจากประทานบัตรการขอทำเหมืองหินภูฮวกสิ้นสุดลง การผลักดันให้ดงมะไฟเป็นเมืองท่องเที่ยวจึงดังขึ้นอีกครั้ง คำถามถึงการผลักดันนโยบายเรื่องการท่องเที่ยวของที่นี่จึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านดงมะไฟเฝ้ารอ

เวียงชัย แก้วพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวถึงนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวว่า ทางจังหวัดฯ ได้มีการทำอยู่แล้ว  แต่ตอนนี้ทางพื้นที่ยังมีปัญหาข้อขัดแย้งกับโรงโม่หิน จึงต้องรอให้มีข้อยุติก่อน

“ตอนนี้พื้นที่นั้นยังมีปัญหาฟ้องร้องกันอยู่ ต้องดูตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม เพราะยังไม่ตัดสินคดี ดังนั้นต้องรอดูว่า ศาลจะว่าอย่างไร จากนั้นจึงมาดูหลักเกณฑ์เพื่อกำหนดให้เป็นแหล่งท่องเที่ย” 

หลังจากที่มีการให้สัมปทานภูผาฮวกเพื่อทำเหมืองหิน วิถีชีวิตอันเรียบง่ายของคนดงมะไฟถูกพรากไปอย่างไม่มีวันหวนคืน มีหลายครอบครัวที่ต้องเสียคนรัก ลูกต้องเสียพ่อไปตลอดกาลเพียงเพราะาร่วมต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองหิน และดูเหมือนความยุติธรรมก็พาลเงียบไปพร้อมกับกาลเวลา 

การส่งเสริมดงมะไฟให้เป็นท่องเที่ยวของ จ.หนองบัวลำภู จึงเพียงความฝัน ความหวังหนึ่งที่รอคอยมาตลอด 26 ปี ไม่ใช่เพียงเพื่อคุณภาพชีวิตของคนดงมะไฟ แต่มันคือ “ชีวิต” ของคนในจังหวัดหนองบัวลำภูและลูกหลานของชาว “ดงมะไฟ”

image_pdfimage_print