จดหมายจากคนอีสานถึงรัฐบาลและคนกรุงเทพฯ ที่สะท้อนออกมาจากความรู้สึกที่ต้องเจอกับความเหลื่อมล้ำในการจัดการวัคซีนอย่างไม่เป็นธรรม นับวันกรุงเทพฯ ซึ่งถูกเรียกว่า “เมืองหลวง” ยิ่งจะสูบทรัพยากรเกือบทุกอย่างจากคนต่างจังหวัดไปเกือบหมด การระบาดของโควิด-19 จึงทำให้เห็นสังคมแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอามากขึ้น

โดย The Isaan Record

แคนาดาเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมอย่างเต็มที่ และมีค่านิยมสนับสนุนความเสมอภาค ความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน เมื่อประสบปัญหาการขาดแคลนวัคซีน รัฐบาลแคนาดาตัดสินใจว่า ทางออกที่ดีที่สุด คือ ต้องพยายามทำให้คนหมู่มากมีภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ขึ้นมาบ้าง ด้วยการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มเดียวแทนที่จะเป็นสองเข็ม

จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา เพิ่งจะได้รับวัคซีนเข็มที่สองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ต่างจากผู้นำในอีกหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม แคนาดาพยายามทำให้คนได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มเท่าที่จะทำได้ โดยเริ่มจากกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงมากที่สุด ทำให้ในขณะนี้มีประชากรแคนาดาได้รับวัคซีนมากถึง 69.4% ถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว และผู้นำของแคนาดาก็รอคิวรับวัคซีนของเขาไม่ต่างจากประชาชนทั่วไป

ช่วงเวลาเช่นนี้ มีการพูดกันอย่างแพร่หลายว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ปรากฎอยู่แล้วทั่วทุกมุมโลกทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเวลาปีครึ่งที่ผ่านมา

แต่รัฐบาลไทยสมควรจะพูดถึงนโยบายการกระจายวัคซีน นอกเหนือจากการอวดอ้างสรรพคุณวัคซีน (และการซื้อวัคซีน) ที่ไม่ค่อยมีใครเชื่อถือ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ดำเนินนโยบาย “กรุงเทพฯ ต้องมาก่อน” อย่างเปิดเผย ซึ่งสะท้อนถึงการรวมศูนย์มากเกินไปอย่างเบ็ดเสร็จและเป็นธรรมชาติของประเทศไทย บรรดาโฆษกฯ ล้วนมีเหตุผลมาอธิบายรองรับการตัดสินใจของรัฐบาล แต่ผลลัพธ์ก็ออกมาเป็นเช่นเดิมทุกครั้ง กล่าวคือ กรุงเทพฯ ต้องได้รับการจัดสรรก่อน ทั้งที่กรุงเทพฯ มีประชากรอยู่ราว 11% ของจำนวนประชากรในประเทศ แต่ได้รับการจัดสรรวัคซีนเข็มแรกไปแล้วถึง 34% คิดคำนวณตามสัดส่วนแล้ว ภาคอีสานได้รับการจัดสรรวัคซีนเพียงหนึ่งเข็มจากทุกๆ หกเข็มที่กรุงเทพฯ ได้รับ

เริ่มต้นได้สวย

อันที่จริงแล้ว ประเทศไทยเริ่มต้นรับมือกับการระบาดได้ค่อนข้างดี รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับมาตรการกักตัว ตรวจหาผู้ติดเชื้อรายใหม่และออกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดทันทีที่จำเป็น ในขณะที่อัตราการติดเชื้อยังต่ำอยู่ รัฐบาลก็เริ่มฝันหวานว่า ประเทศไทยจะเป็นแหล่งหลบโรคระบาดสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อไปได้

หลังจากแคล้วคลาดจากการระบาดระลอกแรกและระลอกสองไปได้ รัฐบาลก็ออกแผน “แซนด์บ็อกซ์” เพื่อโฆษณาดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามายังแหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ที่ปลอดจากโรคโควิด ในขณะที่โลกกำลังทุกข์ระทม ประเทศไทยจะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เป็นสวรรค์แห่งชายหาด สายลมและแสงแดดสำหรับชาวต่างชาติ ประเทศไทยจะกลับมาอย่างยิ่งใหญ่

ทุกอย่างดูจะไปได้สวย ไม่มีความร้อนรนใจ เมื่อถึงช่วงต้นเดือนเมษายน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลก็ปกป้องตัวเองก่อนตามคาด ด้วยการเริ่มฉีดแอสตราเซเนกาที่จะเข้ามาเป็นวัคซีนหลักของประเทศ ในขณะที่ประชากรที่เหลือต้องเสี่ยงโยนหัวก้อยเอากับซิโนแวค ประชากรกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีน คือ บุคลากรทางการแพทย์คิดเป็น 42% ของผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว จากนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ด่านหน้าของรัฐบาลซึ่งมีสัดส่วน 11% และอีก 7% ในกลุ่มสุดท้ายที่เหมือนถูกลืม คือ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง

จุดเริ่มต้นความคลาดเคลื่อนของวัคซีน ที่มา: กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564

ในขณะที่ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวถูกมองข้าม ประชากรอีกกลุ่มที่ได้รับวัคซีนก่อนใครเพื่อน ได้แก่ ผู้ที่อาศัยอยู่ใน “พื้นที่เสี่ยง” ซึ่งมีจำนวนถึง 35% ของผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว

ใครคือผู้ที่มีความเสี่ยงและพื้นที่เสี่ยง คือ ที่ใดกันแน่ แน่นอนว่า คำตอบคือ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุด จึงเป็นที่มาของเหตุผลว่าทำไมกรุงเทพฯ (รวมถึงปริมณฑล) จึงควรได้รับการจัดสรรวัคซีนก่อน หลังจากนั้นมีการนิยามประชาชนที่อาศัยอยู่ใน “พื้นที่เสี่ยง” ออกมาอีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรด่านหน้าในพื้นที่ระบาดหนักหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตามแผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยว และอื่นๆ ตามแต่จะคาดเดา

แต่เป้าหมายสำคัญของการฉีดวัคซีน คือ อะไร เป็นการควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีการระบาดหนักหรือการพยายามขับเคลื่อนสังคมในช่วงเวลาอีกหลายเดือนข้างหน้าให้ไปสู่การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่กันแน่

หน่วยงานสาธารณสุขในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเริ่มออกมาเตือนในช่วงเดือนเมษายนว่า การฉีดวัคซีนนั้นไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อหยุดการระบาดของโรค อย่างที่ทุกคนได้ยินกันมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา การหยุดโรคระบาดที่ได้ผลดีที่สุด คือ การตรวจเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อ การแยกกักกัน การล็อกดาวน์ระยะสั้น การใส่หน้ากาก และการเว้นระยะห่าง ไม่ใช่การฉีดวัคซีนแต่อย่างใด

ระลอกสามถาโถมไทย

แม้จำนวนของผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน รัฐบาลก็ยังคงเดินหน้าตามแผน “แซนด์บ็อกซ์” เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวต่อไป เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม ผลลัพธ์ของการจัดลำดับความสำคัญที่ผิดพลาดก็เป็นที่กระจ่าง เมื่อมีประชากรเพียง 2% ของประเทศเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็ม

การจัดสรรวัคซีนของไทยขาดความสมดุลย์อย่างเห็นได้ชัด อีสานเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำที่สุดในประเทศ โดยจังหวัดที่มีอัตราต่ำที่สุด คือ กาฬสินธุ์ (0.42%) ศรีสะเกษ (0.57%) และร้อยเอ็ด (0.62%) ไม่เพียงเท่านั้น จังหวัดในภาคอื่นๆ ก็ถูกมองข้ามเช่นเดียวกัน อย่าง พะเยามีอัตราฉีดวัคซีนเพียง 0.63% ขณะกำแพงเพชรอยู่ที่ 0.64%

การฉกฉวยวัคซีนเริ่มต้นขึ้นอย่างเอาจริงเอาจัง ที่มา: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 13 พฤษภาคม 2564

ขณะเดียวกันหลายจังหวัดกลับได้รับวัคซีนมากมายอย่างไม่สมเหตุสมผลกับอัตราส่วนของจำนวนประชากร สืบเนื่องจากแผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ภูเก็ตจึงกลายเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุด โดยมีประชากรถึง 24.41% ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม อัตราการฉีดที่ระนอง (8%) และตาก (7%) ก็ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ส่วนจังหวัดขนาดเล็กแห่งอื่นๆ ในแผนการแซนด์บ็อกซ์อย่างเช่นสุราษฎร์ธานี (3.42%) พังงา (2.78%) และชลบุรี (2.63%) ก็ได้รับการจัดสรรในปริมาณที่ไม่เลวนัก แต่พื้นที่ที่ประชากรได้รับสัดส่วนวัคซีนสูงที่สุดแน่นอนว่าคือกรุงเทพ (6.1%) และปริมณฑลอย่างสมุทรปราการ (25.04%) นนทบุรี (3.82%) และสมุทรสงคราม (2.82%) คิดเป็นจำนวนถึงเกือบ 40% ของการฉีดวัคซีนทั้งหมดของประเทศ

อย่างไรก็ตามพื้นที่กรุงเทพฯ เองก็มีความเหลื่อมล้ำปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงถูกเปิดโปงว่า ละเมิดมาตรการควบคุมการระบาดอย่างหน้าตาเฉยด้วยการไปสังสรรค์ในไนท์คลับจนก่อให้เกิดกลุ่มก้อนระบาดใหม่ขึ้นมา การกักตัวที่บ้านเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนรวย แต่เป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้สำหรับคนจนในพื้นที่แออัดของกรุงเทพฯ ที่หลายคนต้องอาศัยรวมอยู่ในห้องเดียวกัน คนรวยเริ่มจ่ายเงินซื้อคิวจองวัคซีนจากคนจน หรือแม้แต่ลงทุนบินไปต่างประเทศเพื่อฉีดวัคซีน คนหลายต่อหลายกลุ่มเริ่มได้รับวัคซีนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นดารานักแสดง พนักงานบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ หรือสื่อมวลชน

ปักหมุดความสำคัญที่กรุงเทพฯ 

เมื่อเดือนมิถุนายน ความหวังในการเปิดประเทศอย่างยิ่งใหญ่ของไทยเริ่มริบหรี่ลงเรื่อยๆ เมื่ออัตราการติดเชื้อทะยานสูงลิ่ว ร่วมกับการมาถึงของไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้น ชนชั้นปกครองทอยลูกเต๋าอีกครั้ง และเช่นเดิม คำตอบคือกรุงเทพต้องมาก่อน (เพื่อปกป้องแผนแซนด์บ็อกซ์)

ภาพรวมความเหลื่อมล้ำของวัคซีนที่มา: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564

หลังจากนั้นไม่นาน ผู้คนทั่วไปเริ่มโพสต์รูปลงโซเชียลมีเดียว่า พวกเขาได้รับวัคซีนแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่ดารา นักแสดง เท่านั้น แต่เป็นทุกคนที่มีเส้นสาย ช่างน่ามหัศจรรย์ที่ในเวลาเพียง 3 สัปดาห์กว่าๆ อัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกในกรุงเทพฯ พุ่งขึ้นจาก 19.5% เป็น 39% และเข็มสองเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเป็น 11.5% ในกลุ่มจังหวัดปริมณฑล อัตราการฉีดเข็มแรกเพิ่มจาก 15.5% เป็น 28.7% และเข็มสองจาก 4.7% เป็น 8.9%

ไทยและแคนาดาตกอยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือไม่สามารถหาวัคซีนมาได้อย่างเพียงพอกับจำนวนประชากร รัฐบาลแคนาดาตัดสินใจเลือกทางที่ปลอดภัยไว้ก่อน และกระจายวัคซีนออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากประเทศไทยเดินตามแนวทางเดียวกันด้วยกระจายฉีดวัคซีนจำนวน 12 ล้านโดสที่นำเข้ามาได้เพียงเข็มเดียวต่อคนไปก่อน รัฐบาลก็คงพอจะได้รับเสียงชื่นชมบ้างทั้งจากในและนอกประเทศ เพราะนั่นเป็นจำนวนที่เพียงพอจะฉีดให้ได้มากถึง 64% ของประชากรกลุ่มเสี่ยงอันประกอบไปด้วยบุคลากรทางการแพทย์ 712,000 คน ผู้สูงอายุ 12.5 ล้านคน และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวเสี่ยงสูงอีก 5.4 ล้านคน หรือถึงแม้จะยังยืนยันกันจำนวนสองเข็มให้สำหรับหนึ่งคน ไทยก็จะสามารถเพิ่มอัตราการฉีดได้สูงขึ้นอีกมากหากเน้นระดมฉีดให้เฉพาะกลุ่มนี้อย่างแท้จริง

ที่มา: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564

ในความเป็นจริง รัฐบาลกลับเลือกวิธีการที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวกลับไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการฉีดวัคซีนก่อนในทางปฏิบัติ มีผู้สูงอายุเพียง 6.8% และผู้มีโรคประจำตัวเพียง 8.4% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนหนึ่งเข็ม ในขณะที่มีบุคลากรทางการแพทย์ถึง 102% และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า 27% ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก ส่วนเหล่าอภิสิทธิ์ชนจากกลุ่มประชาชนทั่วไปได้รับไปแล้วถึง 2.8 ล้านเข็ม หรือมากถึง 7.6%

เจ้าหน้าที่รัฐและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับรัฐได้รับวัคซีนมากที่สุด แต่ผู้สูงอายุได้รับน้อยที่สุด ที่มา: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564

จะเท่าเทียมอย่างไร เมื่อกรุงเทพฯ ต้องมาก่อน

รัฐบาลไทยมุ่งดำเนินนโยบาย “กรุงเทพฯ ต้องมาก่อน” อย่างเต็มสูบ ภาพรวมของการจัดสรรและกระจายวัคซีนทั่วทั้งประเทศไทยเป็นเพียงภาพสะท้อนเล็กๆ ของความเหลื่อมล้ำมหาศาลที่แฝงฝังอยู่ในแผ่นดินนี้

แน่นอนว่าใครๆ ก็กลัวที่จะติดโรค เมื่อระบบลงทะเบียนฉีดวัคซีนเต็มไปด้วยปัญหา คิวนัดรับวัคซีนถูกเลื่อนหรือยกเลิกไร้กำหนด อีกทั้งรัฐบาลก็ขยับในการสั่งจองวัคซีนช้าเกินเหตุ ก็ไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดผู้คนจึงตะเกียกตะกายทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองได้รับวัคซีนก่อน ประหนึ่งกลายเป็นโต๊ะบุฟเฟต์ที่ใครมือยาวสาวได้สาวเอา

ปัญหา คือ ทุกๆ เข็มที่ถูกนำไปฉีดให้กับคนที่ไม่ยอมรอคิวฉีดของตัวเองตามความเหมาะสม คือ การแย่งชิงเอาไปจากจำนวนที่ผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัวควรจะได้รับ แม้แต่ในเชิงทฤษฎีก็ตาม

ปัญหาใหญ่ไม่แพ้กัน คือ อัตราส่วนวัคซีนจำนวนมหาศาลที่ถูกทุ่มลงไปให้กับกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล (รวมถึงจังหวัดในแผนแซนด์บ็อกซ์) เป็นเพียงผลพวงล่าสุดของแผน “พัฒนา” อายุหลายร้อยปีที่ให้อภิสิทธิ์แก่พระนครรวมถึงราษฎรในมณฑลรายล้อมและในสถานการณ์เช่นนี้อาจสร้างความสูญเสียถึงแก่ชีวิตในพื้นที่ที่ถูกละเลย ทั้งที่ปริมณฑลและกรุงเทพฯ มีสัดส่วนประชากร 21% ของประเทศ แต่กลับมีอัตราฉีดวัคซีนเข็มแรกสูงเกือบครึ่งหนึ่ง คำนวณดูแล้วคิดเป็นสัดส่วนถึง 235% ต่ออัตราประชากร ในขณะที่ภาคอีสานได้รับวัคซีนเพียง 48% ต่ออัตราส่วนประชากรเท่านั้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กรุงเทพและปริมณฑลได้รับวัคซีนมากกว่าอีสานถึง 4.9 เท่า หากตัดปริมณฑลออกแล้ว กรุงเทพก็ยังได้รับวัคซีนเข็มแรกมากกว่าอีสาน 6.5 เท่า

1นนทบุรี, ปทุมธานี (เขตสุขภาพที่ 4) นครปฐม, สมุทรสาคร (เขตสุขภาพที่ 5) สมุทรปราการ (เขตสุขภาพที่ 6) กรุงเทพมหานคร (เขตสุขภาพที่ 13) 2เขตสุขภาพที่ 11  3เขตสุขภาพที่ 12  4เขตสุขภาพที่ 3, 4, 5, 6  5เขตสุขภาพที่ 1, 2  6เขตสุขภาพที่ 7, 8, 9, 10 ที่มา: รายงานสถานการณ์ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยกรมควบคุมโรค ข้อมูล ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2564

ขณะที่ภาคอื่นๆ ของประเทศก็ได้รับการจัดสรรในสัดส่วนที่ต่ำเตี้ยไม่แพ้กัน ภาคเหนือได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วเพียง 58% ภาคกลางได้รับ 65% และภาคใต้ตอนล่าง 63% แต่ในทางกลับกัน ภาคใต้ตอนบนกลับมีอัตราฉีดวัคซีนเข็มแรกต่ออัตราส่วนประชากรถึง 154% และเข็มสองถึง 229%

สิ่งเดียวที่กรุงเทพฯ ยอมประนีประนอมให้ก็ คือ แผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภาคใต้ที่ดูไปแล้วก็ไม่ถือว่า ประสบความสำเร็จมากนัก ภูเก็ตได้รับวัคซีนเข็มแรกมากกว่ากรุงเทพ 1.8 เท่า และเข็มสองมากกว่าถึง 5 เท่า และที่วิปลาสยิ่งไปกว่านั้น เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ภูเก็ตได้วัคซีนเข็มแรกมากกว่าอีสานถึง 12 เท่า และเข็มสองถึง 21 เท่า

ประเทศไทยไม่มีปัญหาความลังเลต่อการฉีดวัคซีน แต่มีปัญหาขาดแคลนวัคซีน ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ การโพสต์รูปสวยอวดใครต่อใครว่า ได้รับวัคซีนแล้วดูจะเป็นเรื่องผิดกาละเทศะไม่ใช่น้อย ขณะที่ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่พร้อมจะฉีดทันทีที่พวกเขามีโอกาส แต่สิ่งที่พวกเขาขาดคือ “เส้นสาย”

หนังสือเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้เขียนว่า คนกรุงเทพฯ รู้สึกว่า คนไทยทุกคนเท่าเทียมกัน แต่คนไทยทุกคนเท่าเทียมกันจริงหรือ ในเมื่อรัฐบาลทุ่มสรรพทรัพยากรส่วนมากลงมาให้กับกรุงเทพเท่านั้น นครที่มีโรงเรียนที่ดีที่สุด ระบบคมนาคมขนส่งที่ดีที่สุด จะว่าไปแล้ว ก็ดีที่สุดทุกอย่างนั่นแหละ ระบบที่วางเอาไว้ในปัจจุบันไม่ใช่ระบบที่มีความเท่าเทียมแม้แต่น้อย และคนไทยทุกคนควรจะรู้สึกกังวลเกี่ยวกับเรื่องนั้น ในช่วงเวลาของความเป็นความตายเช่นนี้ สมควรแก่เวลาแล้วที่จะต้องมีการถกประเด็นการกระจายวัคซีนให้เท่าเทียมและทั่วถึงอย่างจริงจัง

บริการทางสาธารณสุขถือเป็นสิทธิ ไม่ใช่อภิสิทธิ์ สำหรับบุคคลที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพแล้ว การยืนยันว่า ตนเองสมควรจะได้รับวัคซีนเดี๋ยวนี้นั้น ก็ไม่ต่างกับการอวดอ้างว่า ตนเองมีอภิสิทธิ์ที่จะได้รับวัคซีนเหนือกว่าคนไทยคนอื่นๆ

เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา เพื่ออุ้มชูบรรดาธุรกิจในกรุงเทพฯ และเพื่อจัดการกับความหวาดวิตกของประชาชนในเมืองหลวง รัฐบาลได้ประกาศออกมาแล้วว่า ชีวิตอื่นๆ นั้นด้อยค่ากว่ากลุ่มเป้าหมายของรัฐบาลมีเพียงชาวกรุงเทพฯ ศูนย์กลางแห่งจักรวาลทั้งปวง รัฐบาลชุดนี้เข้ามาถือครองอำนาจได้ก็เพราะความชอบธรรมที่ชาวกรุงเทพมอบให้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่รัฐบาลจะต้องสนใจว่าประชากรที่อาศัยอยู่นอกเมืองหลวงกำลังใช้ชีวิตกันเช่นไร

ณ วันที่ 16 พฤษภาคม วัคซีน 2.8 ล้านเข็มแรกถูกฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง และอีก 540,000 เข็มให้กับประชาชนทั่วไป แซงหน้ากลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว สมควรหรือไม่ที่รัฐบาลจะต้องออกมาอธิบายว่า เหตุใดคนกลุ่มนี้จึงสามารถมาเบียดบังเอาวัคซีนจากกลุ่มผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพมากกว่าไปได้

ที่มา: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564

เมื่อไม่นานมานี้ บรรดาแพทย์เริ่มพูดคุยกันว่า พวกเขาควรจะได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิเข็มที่ 3 ก่อน เป็นการป้องกันเอาไว้ บางกอกโพสต์รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นบริจาควัคซีนจำนวน 1 ล้านโดสให้กับประเทศไทย และเสริมว่า “วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ได้รับบริจาคมา 1 ล้านโดสจะนำไปเน้นปูพรมฉีดในกรุงเทพฯ”

พอเถอะ พอเสียที

ถึงเวลาแล้วที่ประชากรไทยทุกคน (รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย) จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันและวัคซีนควรถูกเร่งจัดสรรให้ถึงกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด อันได้แก่ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวทั่วทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่

ถึงชาวกรุงเทพฯ : ขอให้ล็อกดาวน์อยู่กับที่เพื่อตัวคุณเองและคนอื่นจะได้ปลอดภัย นี่ไม่ใช่เวลาที่จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ รอจนกว่าวิกฤตโรคระบาดนี้จะบรรเทาลง ไม่ต้องมาเยี่ยมเรา แต่ควรส่งวัคซีนมาให้พวกเราบ้าง

อ่านฉบับภาษาอังกฤษได้ที่นี่ Letter to Bangkok: Thailand’s inequality puts millions at risk

image_pdfimage_print