วิทิต จันดาวงศ์ เรื่อง

ประมาณปี พ.ศ. 2489 ผมเริ่มเข้าเรียนหนังสือชั้นเตรียมประถมศึกษาที่โรงเรียนสว่างวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนครผมมีอายุย่าง 7 ขวบ จำได้ว่าแม่ตัดเสื้อคอกลมสีเหลืองให้ใส่ซ้อนไปโรงเรียนพอหยุดพักผมก็ถอดเสื้อสีขาวออกเหลือแต่เสื้อคอกลมสีเหลือง ผ้าอ่อนๆ ลื่นๆ ตัวนั้น วิ่งเล่นอยู่กับเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกัน วันหนึ่งขณะหยุดพัก ผมใส่เสื้อคอกลมสีเหลืองตัวนั้นวิ่งเล่นอยู่ ได้ยินเสียงเพื่อนคนหนึ่งตะโกนบอกว่า ‘‘เฮ้ยดูรถทหารญี่ปุ่นโว้ย’’ ผมหันไปทางเสียงที่ตะโกนแล้วมองตามมือที่เขาชี่ไปทางหน้าที่ว่าการอำเภอ ซึ่งเป็นถนนสายสกลนคร-อุดรธานีปรากฏว่ามีรถ 2-3 คัน แต่ละคันมีรถไม่มากนัก อยู่บนรถบ้าง กำลังปีนขึ้นลงบ้างเป็นคนที่รูปร่างไม่สูง

ผมคิดว่าคงใช่ เพราะเคยได้ยินเพื่อนของพ่อที่เคยมาที่บ้านหลายคน พอพูดถึงทหารญี่ปุ่นเขาจะเรียกว่าทหารไอ้เตี้ย หลังจากนั้นผมก็ไม่ใส่ใจวิ่งเล่นต่อไปตามประสาเด็กๆ (คิดว่าเป็นพวกที่ตกค้างจะเดินทางกลับหลังแพ้สงคราม) พอผมกลับบ้านตอนเย็นก็คุยอวดแม่ว่า ‘‘แม่ วันนี้ผมเห็นทหารญี่ปุ่นตั้งหลายคน 2-3 คันรถ ที่ตลาด’’ แม่ฟังแล้วรู้สึกจะมีอาการตกใจเอามากๆ รีบถามผมอย่างร้อนใจว่า ‘‘แกออกไปดูเขาถึงที่รถเหรอ’’ ‘‘เปล่า’’ ผมตอบ

แม่แสดงอาการโล่งใจและพูดต่อไปว่า ‘‘คราวหน้าถ้าเห็นรถทหารญี่ปุ่นมาอีกรีบหลบเข้าห้องทันที อย่าออกไปดูเด็ดขาด’’ ‘‘ทำไมล่ะ’’ ผมถามแม่นิ่งอยู่พักหนึ่งจึงตอบว่า ‘‘ก็เสื้อที่แม่ตัดให้แก่ใส่นั้นเป็นผ้าร่มที่อเมริกาทิ้งร่มลงมาเผื่อญี่ปุ่นเห็นเข้ามันจะจับพวกเราไปฆ่าทั้งครอบครัว’’ ผมฟังแล้วยังไม่เข้าใจอยู่ดี นับจากวันนั้นมาแม่ไม่ให้ใส่เสื้อผ้าร่มตัวนั้นไปโรงเรียนอีกเลย

หลายวันต่อมา เมื่อพ่อกลับมาบ้าน ผมนึกถึงคำพูดแม่วันนั้นจึงถามพ่อว่า “อเมริกาเขาทิ้งผ้าร่มอะไรมาให้พวกพ่อ” พ่อรู้สึกงงในคำถามของผมเมื่อสอบถามแม่จึงเข้าใจ พ่ออธิบายให้ผมฟังว่า ระหว่างเกิดสงครามนั้นพ่อได้ทำงานเสรีไทยเพื่อกู้เอกราช ร่วมกับนายเตียง ศิริขันธ์ และเพื่อนคนอื่นต่อต้านญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาสนับสนุนทางด้านอาวุธ โดยการทิ้งร่มลงมาจากเครื่องบิน ร่มนั้นเป็นผ้าที่แม่ใช้ตัดเสื้อให้เราใส่นั่นแหละ แต่ตอนนี้สงครามเลิกแล้ว ถ้าหากสงครามยังไม่เลิก ผมก็ไม่มีโอกาสใส่เสื้อผ้าร่มผืนนั้นเพราะจะทำให้ญี่ปุ่นรู้และจะจับพวกเรา (หมายถึงพ่อกับพวก) ไปลงโทษด้วยการยิงเป้า

ผมฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจอะไรดีนัก แต่ก็พอลำดับภาพได้ เพราะเคยเห็นเพื่อนของพ่อหลายคน เช่น คุณอาทองปาน วงศ์สง่า และอีกหลายคนที่นึกชื่อไม่ออกเวลานั้นยังเล็กอยู่ ยังไม่ได้เข้าโรงเรียน บางทีตื่นเช้าขึ้นมาก็เห็นพวกเขากำลังดูอะไรอยู่ก็ไม่รู้ (เป็นพวกอาวุธปืน) เห็นเขาพูดคุยกัน พอเวลาค่ำก็พากันออกจากบ้านไป ค่อนข้างจะบ่อยครั้ง

พ่อเล่าให้ฟังว่า หลังเสร็จสงครามพ่อกับพวกในขบวนการเสรีไทย เคยเข้าไปสวนสนามที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและกล่าวถึงท่านปรีดี พนมยงค์ ด้วยความชื่นชมมากในระยะหลังสงคราม ครอบครัวของเราต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง พ่อต้องขายบ้านเพื่อนำเงินมาแก้ปัญหาหนี้สินตอนเคลื่อนไหวเสรีไทย พ่อปลูกบ้านหลังเล็กๆ พอได้เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว

ประมาณปี พ.ศ.2490 ผมเรียนอยู่ประถมชั้นปีที่ 1 แต่จะเป็นช่วงใดจำไม่ได้หลังจากที่ทางกรุงเทพฯ เกิดรัฐประหาร ท่านปรีดี พนมยงค์ หนีออกไปต่างประเทศทางรัฐบาลคณะรัฐประหารหันมาจับกุม กวาดล้างอดีตผู้ร่วมขบวนการเสรีไทยในเขตภาคอีสาน ในเขตจังหวัดสกลนคร ก็มีนายเตียง ศิริขันธ์ กับพวกรวมทั้งพ่อด้วย เพราะพ่อเป็นทั้งเพื่อนและหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของนายเตียง ในงานเสรีไทยในเขตจังหวัดสกลนครวันที่พ่อถูกจับนั้นผมจำได้ว่า เวลาประมาณเที่ยงเศษ พวกเรากำลังกินเข้ากลางวันกันอยู่ มีพ่อ ผม น้อง (ธำรง, ควรครอง) เดช (ลูกชายแม่มุก ภรรยาเดิมของพ่อ) และจำลอง ศิริจันทร์พันธ์ ลูกป้า (พี่สาวของพ่อ) ผมมองไปทางชายป่าทางที่มาจากตลาด (ตัวเมือง) เห็นคน 8-9 คน เดินมุ่งหน้ามาทางบ้านเรา (สมัยนั้น ในบริเวณนี้ มีบ้านพวกเราอยู่หลังเดียว) ผมบอกพ่อว่า “ใครมาพ่อ’’ เมื่อพ่อหันไปดูแล้วบอกพวกเรารีบกินข้าวให้เสร็จ พ่อลุกไปดื่มน้ำ ล้างมือและเข้าไปเปลี่ยนเสื้อผ้า (ขณะนั้นพ่อนุ่งผ้าขาวม้า) มาต้อนรับ

พอคนเหล่านั้นมาถึง เห็นคุยอยู่กับพ่อพักหนึ่ง เขาก็ขึ้นไปรื้อสิ่งของคล้ายจะค้นหาอะไรสักอย่าง พ่อตามไปดู ผมแปลกใจว่า ทำไมพ่อไม่ห้ามหรือต่อว่า อะไรกับคนเหล่านั้น สักพักพวกเขาก็ออกมาพร้อมกับถือหนังสือสองสามเล่ม เห็นมีปลอกกระสุนที่ใช้แล้วทิ้งอยู่เขาก็เก็บมาด้วย แล้วก็มีชายคนหนึ่งนั่งเขียนอะไรก็ไม่รู้ (ทำบันทึกการจับกุม ตรวจค้น) เสร็จแล้วก็ให้พ่อเซ็นชื่อ แล้วให้พ่อจัดเสื้อผ้าใส่กระเป๋าไปกับคนกลุ่มนั้น ผมสังเกตดูไม่เห็นพ่อตกอกตกใจอะไร พูดคุยกับคนกลุ่มนั้นอย่างยิ้มแย้มเป็นปกติ คนกลุ่มนั้นก็พูดคุยแบบปกติธรรมดา พวกเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พ่อถูกจับกุม คนเหล่านั้นพาพ่อออกจากบ้านไปเขาก็ไม่ได้ใส่กุญแจมือแต่อย่างใด

พอพวกเขาพาพ่อออกจากบ้าน ผมรู้สึกวังเวงอย่างไรชอบกล ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าพ่อถูกจับ สักพักหนึ่งน้องสาวคนเล็ก (ควรครอง) ร้องไห้โฮออกมา ตามด้วยเสียงน้องชาย (ธำรง) ทำให้ผมต้องน้ำตาไหลออกมาด้วยโดยไม่รู้สาเหตุ ตอนเย็นแม่กลับมา พวกเราบอกกับแม่ว่า มีคนมาพาพ่อไปไหนไม่รู้เอาเสื้อผ้าไปด้วย ดูสีหน้าแม่ไม่สู้ดีนัก แม่ตอบพวกเราว่า ‘’รู้แล้ว พ่อถูกจับ’’ ผมกับน้องๆ งง ผมถามแม่ว่า “เขาจับพ่อทำไม” แม่บอกว่า “รัฐบาลจับเรื่องการเมือง” พวกลูกๆ ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ต่อมาระยะหนึ่งเป็นเวลานานสำหรับความรู้สึกของลูกๆอย่างพวกเรา (ประมาณ 2 เดือน) พ่อกลับมาบ้านพร้อมเพื่อนๆ ของพ่อ 4-5 คน ผมจำไม่ได้ว่าเป็นใครบ้าง (พวกที่ต้องคดีด้วยกันที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยการใช้หลักทรัพย์ประกัน)

เมื่อพ่อกลับมาพวกเราแม่ลูกต่างดีอกดีใจกันมาก แต่ระยะนี้ครอบครัวของเราประสบปัญหายากลำบากอย่างยิ่ง แม้แต่ข้าวก็แทบไม่มีจะกิน บางวันแม่ต้องไปกู้ยืมข้าวเปลือกจากเพื่อนบ้าน กว่าจะได้ข้าวมา 5 โมงเย็น เมื่อได้ข้าวเปลือกมาแล้วพวกน้าๆ ก็ใช้ครกกระเดื่องตำข้าว กว่าจะตำเสร็จเป็นข้าวสาร นำมาแช่ นึ่งได้กินข้าวเย็นกันปาเข้าสี่ทุ่มแล้ว พวกเราลูกๆถูกปลุกขึ้นมากินข้าวเย็น ธำรง (น้องชาย) ถึงกับปั้นจิ้มลงบนสำรับ ทั้งๆ ที่กำลังหลับอยู่ ไม่ถูกถ้วยอาหาร พวกผู้ใหญ่พากันหัวเราะด้วยความขำขัน แต่ธำรงร้องไห้ ส่วนน้องสาวคนเล็กนอนหลับปุ๋ยไม่ต้องกินข้าวเย็นกันเลย

วันหนึ่งในขณะกินข้าวเช้า ธำรง ซึ่งยังเด็กอยู่พูดในขณะกินข้าวว่า ‘‘ทำไมพ่อกับแม่ถึงพาพวกผมกินข้าวกับปลาร้าทุกวัน ไม่มีของดีๆ มากินบ้างหรือ’’ พ่อได้แต่ยิ้มแหยๆ ไม่พูดสักคำ แต่ผมพูดขึ้นว่า ‘‘ผมกินยังไงก็ได้เพราะรู้ว่าพ่อกับแม่ยากจน’’ พ่อฟังแล้วนิ่งอึ้ง ส่วนแม่น้ำตาไหลพรูออกมาโดยไม่พูดจาอะไร

ภาพที่ประทับใจมากที่สุดในขณะที่ครอบครัวเรายากลำบาก ซึ่งผมไม่มีวันลืมก็คือ ผมเห็นชาวบ้านแถวบ้านเปือย บ้านหนองทุ่ม บ้านดงแสนตอ บ้านโพนสี และบ้านทุ่งบ่อที่มาขายข้าวในอำเภอหรือมาซื้อของและติดต่อราชการได้แวะเวียนมาที่บ้าน พร้อมกับนำข้าวสารบ้าง ข้าวเปลือกบ้าง มาฝากครอบครัวเรา ทำให้พอประทังชีวิตไปได้ จากการช่วยเหลือของชาวบ้านเหล่านั้น เป็นที่สงสัยของผมในตอนที่เป็นเด็กๆ ตลอดมาและผมได้รับคำตอบ โดยไม่มีใครอธิบายเมื่อตอนเรียนมัธยม

ผมเรียนประถมปีที่ 4 ราวๆ พ.ศ.2493 ซึ่งเป็นระยะเวลาใดนั้นจำไม่ได้ เวลานั้นห้องเรียนถูกจัดไว้ที่ระเบียงโรงเรียน วันหนึ่งผมเห็นชาวบ้านจากบ้านหัน 3-4 คน หนึ่งในจำนวนนั้นแบกหีบไม้สี่เหลี่ยม ผ่านทางหน้าโรงเรียนตรงไปที่ว่าการอำเภอ ครูประจำชั้นตะโกนถามชาวบ้านว่า ‘‘ใครมาที่หนึ่ง’’ ชาวบ้านคนนั้นตอบว่า ‘‘นายทราย’’ (เป็นราษฎรในหมู่บ้านหันที่สมัคร ส.จ. ผมฟังเขาพูดโต้ตอบกันก็ไม่รู้เรื่องอะไรแต่จำคำพูดนั้นได้ พอกลับมาถึงบ้าน ผมเล่าความสงสัยนั้นให้แม่ฟัง และถามแม่ว่าเขาแบกหีบอะไร แม่นิ่งคิดอยู่พักหนึ่งจึงยิ้มพร้อมกับตอบว่า ‘‘คงเป็นหีบเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด พ่อแกได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดของอำเภอสว่างแดนดิน แกไม่รู้หรอ” หลังจากนั้นเป็นต้นมา มีชาวบ้านเข้ามาหาพ่อทุกวัน พ่อจะพาพวกเขาไปติดต่ออำเภอบ้าง จังหวัดบ้าง และชาวบ้านเหล่านั้นจะนำข้าวสาร ข้าวสุก ปลาร้า มาฝากเป็นประจำ ผมเคยถามพ่อว่า ‘‘ทำไมชาวบ้านจึงเอาของเหล่านี้มาให้เรา’’ คำตอบของพ่อก็คือ เราเป็นคนของประชาชน ประชาชนรักศรัทธา เขาจึงไม่ทอดทิ้งเรา” เป็นคำตอบสั้นๆ แต่ทว่ากว่าผมจะเข้าใจความหมายของคำๆ นี้ได้บ้าง ก็ต่อเมื่อผมมีอายุเกือบ 20 ปี

เมื่อปี พ.ศ. 2495 ผมกำลังเรียนอยู่มัธยมปีที่ 2 ที่โรงเรียนศิริขันธ์ 2 ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดโพธิ์ศรี พ่อได้จัดให้มีการประชุมสันติภาพ เรียกร้องและลงชื่อให้รัฐบาลไทยวางตัวเป็นกลางและคัดค้านการส่งทหารไปรบในสงครามเกาหลี มีตัวแทนจากกลุ่มชาวบ้านขึ้นพูด ประกาศเจตนารมณ์คัดค้านสงคราม ผมได้รับเลือกเป็นตัวแทนนักเรียน กล่าวคำปราศรัยกับเขาด้วย โดยที่พ่อจะนำชื่อคนเหล่านี้ลงไปกรุงเทพฯ หลังการเคลื่อนไหวสันติภาพครั้งนั้นไม่นานพ่อก็ถูกทางการจับกุมตัวอีกในปี พ.ศ.2495 ที่รู้จักกันว่า“กบฏสันติภาพ” หรือ“ กบฏ 10 พ.ย.” พร้อมกับการจับกุมนั้น ทางราชการได้สั่งยุบโรงเรียนศิริขันธ์ 2 ทันที โดยให้นักเรียนย้ายไปฝากเรียนที่โรงเรียนสว่างแดนดิน (โรงเรียนศิริขันธ์ 2 เป็นโรงเรียนที่นายเตียง ศิริขันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครก่อตั้งขึ้น มีนายครอง จันดาวงศ์ เป็นผู้จัดการ)

เมื่อขาดผู้นำก็ยิ่งทำให้ครอบครัวของพวกเรา ซึ่งลำบากยากเข็ญอยู่แล้วยิ่งลำบากหนักขึ้น แม่ต้องรับภาระหนักในการเลียงดูลูกๆ ที่ยังเด็กกันทั้งนั้น แม่ตื่นตั้งแต่ตีสามลุกขึ้นมาทำซุปหน่อไม้ ทำผักดองไปขายตลาดเช้า พวกเราต้องตื่นแต่เช้ามาช่วยแม่ทำ บางครั้งขูดมะพร้าวไปหลับไปจนกระต่ายขูดมะพร้าวขูดนิ้วมือเป็นแผลบ่อยๆ ระหว่างนี้ยังมีชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนถามข่าวเป็นประจำ พร้อมกับนำข้าวสาร ปลาร้า ปลาย่าง มาฝากอีกเช่นเคย

เมื่อประมาณปี 2499 ผมกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 6 บ้านหลังเล็กๆ ของพวกเราทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เสาขาด บ้านเอียง ประตูหน้าต่างปิดไม่ได้ ชาวบ้านที่แวะเวียนมาเห็นสภาพเข้าก็คงจะด้วยความเห็นใจสงสารพวกเรา พวกเขาจึงได้หารือกันจัดหาเสาบ้านมาแล้วรื้อบ้านหลังเดิม สร้างบ้านหลังใหม่ที่ใหญ่กว่าให้พวกเรา แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์นัก เมื่อมาถึงตอนนี้ผมเริ่มจะเข้าใจและลึกซึ้งในคำพูดของพ่อที่ว่า “เราเป็นคนของประชาชน ประชาชนจะไม่ทอดทิ้งเรา” ทำให้ผมยึดมั่นคำๆ นี้ทั้งถ้อยคำและเนื้อหาเป็นอุดมคติตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ.2500 ได้มีการเลือกตั้งทั่วไป (การเลือกตั้งสมัยนั้นเป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขต จังหวัดสกลนครมีผู้แทนได้ 3 คน) ผมได้ข่าวว่า พ่อจะเดินทางมาสมัครรับเลือกตั้งด้วย ผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะขณะนั้นพ่อถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุก13 ปี 4 เดือน หลังจากนั้นพ่อก็ส่งใบปลิวที่เรียกว่า สาส์นถึงประชาชน เนื้อความผมจำไม่ได้แต่เป็นในทำนองคำปราศรัย ผมเดินไปแจกสาส์นให้กับชาวบ้าน มีเพื่อนร่วมโรงเรียนไปช่วยหลายคน (ตอนนั้นผมเรียนอยู่โรงเรียนประจำจังหวัด คือ สกลราชวิทยานุกูล) ครั้นถึงวันเปิดรับสมัคร ส.ส.ผมเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านที่อำเภอสว่างแดนดิน

วันนั้นขณะที่แม่ก้มหน้าก้มตาเย็บผ้าอยู่ (เย็บด้วยเข็มสอย) ผมกำลังนั่งคิดเรื่องความเป็นไปได้ที่พ่อจะมาสมัครผู้แทนราษฎรพอถึงเวลาบ่ายโมงเศษผมเห็นรถยนต์ขนาดกลางคันหนึ่งแล่นเข้ามาในบ้าน พลันที่รถจอดก็เห็นมีใครคนหนึ่งลงจากรถ (เป็นคนในตลาดสว่างแดนดิน ถ้าจำไม่ผิดแกชื่อว่านายกาบ) ตะโกนเรียกพวกเราด้วยความดีใจว่า “แตงอ่อน ครูครองมาสมัครผู้แทนแล้ว รออยู่ที่ตลาดสว่างฯ ให้เอารถมารับเจ้าไปสกลฯ ด้วย” ด้วยความดีใจสุดขีดผมวิ่งลงบันได โดยไม่รอรถยนต์ (ตลาดห่างจากบ้านประมาณ 1.5 กิโลเมตร) คว้าจักรยานปั่นไปอย่างสุดชีวิต

ถึงตลาดจอดจักรยานเห็นพ่อยืนคุยอยู่ผมตะโกนเสียงดัง “พ่อ” วิ่งเข้าโอบกอดน้ำตาไหล ทั้งพ่อทั้งลูกต่างดีใจและปลาบปลื้ม 4 ปีเศษที่เราพ่อลูกไม่ได้เจอกันเลย มีแต่จดหมายสื่อถึงกันและกันเดือนละครั้ง ตอนพ่อจากไปผมอายุเพียง 13 ปี ตอนนี้ผมย่าง 18 ปี สูงเท่าพ่อแล้ว พ่อมองลูกชายที่โตเป็นหนุ่มด้วยแววตาปลาบปลื้มพลางพูดว่า“ลูกพ่อเป็นหนุ่มแล้วนี่” ผมยิ้มทั้งน้ำตา แม่เดินเข้ามาพูดคุยกับพ่อพร้อมกับคนอื่นที่มาต้อนรับอยู่ครู่หนึ่งจึงพากันขึ้นรถคันเดิมเดินทางเข้าจังหวัด ผมไม่ทราบว่า ใครเก็บจักรยานไปส่งที่บ้านจนบัดนี้

ในขณะที่นั่งรถเดินทางไปตัวจังหวัดสกลนคร มีเจ้าหน้าที่เรือนจำบางขวาง 2 คน  ควบคุมพ่อมา (พ่อแนะนำ) ดูพ่อไม่มีเครื่องพันธนาการใดเลย ทางเจ้าหน้าที่เรือนจำให้เกียรติพ่อมาก (ผมจำไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำทั้งสองชื่ออะไร ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่) พอเดินทางถึงตัวจังหวัด พ่อไปยื่นใบสมัครเรียบร้อย (ผมจำไม่ได้ว่า ได้หมายเลขใด) ทางผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น (ในฐานะผู้บัญชาการเรือนจำ) สั่งให้นำตัวไปฝากขังไว้ที่เรือนจำจังหวัดทันทีโดยไม่มีโอกาส แม้จะพบปะประชาชนเลย พ่อถูกขังไว้ที่เรือนจำจังหวัดกี่วันผมจำไม่ได้ แต่ไม่นานนักก็ถูกนำตัวกลับไปเรือนจำบางขวาง ผมทำหน้าที่เดินแจกใบปลิวโฆษณาในตัวจังหวัดและหมู่บ้านรอบๆ ตัวจังหวัด ส่วนทางอำเภอสว่างแดนดินมีชาวบ้านช่วยกันออกหาเสียงให้โดยเขาเหล่านั้นออกค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น ก่อนวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประมาณ 5 วัน พ่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยการประกัน (ผมไม่ทราบว่า ใช้หลักทรัพย์ประกันหรือไม่และเป็นวงเงินเท่าใด) พ่อออกเดินหาเสียงแถวใกล้ๆ บ้านจนกระทั่งลมจับ ผลการเลือกตั้งครั้งนั้นผู้ที่ได้รับเลือกคือนายดาบชัย อัครราช นายทองปาน วงศ์สง่า และนายวิกรานต์ โสธิสวัสดิ์ (นามสกุลคนสุดท้ายไม่แน่ใจว่าจะถูกต้องหรือไม่) ส่วนพ่อไม่ได้รับเลือกตั้ง ได้อันดับที่เท่าใดคะแนนเท่าไหร่ ผมไม่ทราบและไม่ได้สนใจนักมีแต่ความดีใจที่พ่อได้กลับมาอยู่กับลูกๆ อีกครั้ง

ในช่วงนี้เป็นต้นปี 2500 ผมเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 พอดี หลังเลือกตั้งเสร็จผมต้องมาคิดเรื่องการเรียนต่อ เนื่องจากฐานะทางครอบครัวยังอยู่ในภาวะที่ลำบากยิ่งพ่อคงคิดเรื่องนี้หนักและค่อนข้างไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะส่งผมเรียนต่อ ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ว่า พ่อจะให้ทางออกและเหตุผลอย่างไรถึงจะไม่กระทบกระเทือนจิตใจลูก น้องผมสองคนก็กำลังเรียนมัธยมอยู่ ธำรงเหลืออีกสองปี ควรครองเหลืออีกสามปีจึงจะจบชั้นมัธยมปีที่ 6 เหตุผลของพ่อที่หนีไม่พ้นจากความเป็นจริง คือ น้องสองคนยังไม่จบสักคน หากพ่อส่งลูกเรียนชั้นอุดมศึกษาก็จะต้องเดินทางไปเรียนที่กรุงเทพฯ ค่าใช้จ่ายมาก เงินทุกบาททุกสตางค์ก็ต้องทุ่มไปที่เราอาจมีผลกระทบต่อการเรียนของน้องทั้งสองคน พ่อคิดว่า ลูกคงไม่ต้องการเช่นนั้น

แตงอ่อน จันดาวงศ์ (แม่) และ ครอง จันดาวงศ์ (พ่อ) ของ วิทิต จันทร์ดาวงศ์

อย่างไรก็ตามการศึกษานั้นไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนหรือที่มหาวิทยาลัยอย่างเดียว หากยังมีอยู่ในชีวิตจริง ในสังคมนอกสถาบันการศึกษานั่นคือมหาวิทยาลัยชีวิต ขอให้ลูกหมั่นค้นคว้าตลอดเวลา หมั่นสรุปบทเรียนจากชีวิตจริง ยกระดับตัวเองอย่างไม่ขาดสายก็จะทำให้เราประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวัง ความหวังของเรานั้นไม่ใช่เพื่อตัวเอง ต้องเพื่อสังคมคนส่วนใหญ่ เพื่อผู้ยากไร้ เราต้องทำตัวให้เป็นสมบัติของประชาชน ประชาชนจะอยู่ล้อมรอบเรา จะรักษาเรา ไม่ทอดทิ้งเรา 

เหตุผลตอนต้นนั้น ผมคิดว่า มันเป็นความจริงที่ปฏิบัติไม่ได้อยู่แล้ว แต่เหตุผลตอนท้ายๆ นี่สิ ผมยังมองไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมและคิดว่า เป็นการปลอบใจลูกมากกว่า แต่ผมไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น ต้องทำใจยอมรับสภาพนั้นโดยปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ แต่ในใจก็รู้สึกขัดแย้งอยู่

 เป็นอันว่าในฤดูฝนปี 2500 ผมต้องอยู่ช่วยพ่อแม่ทำนา ในบางครั้งระหว่างที่ผมไถนาตอนเย็นอยู่ (ผมไถนาเป็นตั้งแต่เรียนชั้นประถม) ชาวบ้านเดินทางกลับจากท้องนามักตะโกนหยอกล้อผมว่า“เตี้ยมเอ๊ย (ชื่อเล่นผม)จะมาไถไร่ไถนาอยู่ทำไม เรียนมาแล้วก็ไปเป็นเจ้าเป็นนายเถอะ ถ้าจะทำนาเขาไม่ต้องเรียนให้เปลืองเงินดอก” ทำให้ผมอายมากๆ เหตุการณ์เช่นนี้ไม่รอดสายตาของพ่อ ตกเย็นหลังจากกินข้าวเสร็จพ่อจะทำงานความคิดกับผมทันที เรียกได้ว่าแก้ปัญหาทันควัน พ่อให้เหตุผลกับผมว่า“ชาวบ้านนั้นถูกสร้างค่านิยมที่จะให้ลูกหลานเรียนหนังสือเพื่อไปเป็นเจ้าคนนายคน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง” ตอนนั้นผมฟังคำอธิบายของพ่อแล้วยังไงๆ อยู่ ผมยังมีความรู้สึกคล้อยตามชาวบ้านอยู่ดีแต่ก็ไม่มีเหตุผลจะโต้แย้งได้แต่ทำใจ

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ได้มีการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  คณะรัฐประหารประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 90วัน (ถ้าจำไม่ผิดวันเลือกตั้ง คือ วันที่15 ธันวาคม 2500) ในช่วงนั้นผมใจชื้นขึ้นมาหน่อย เพราะผมฝากความหวังไว้กับการเลือกตั้งค่อนข้างมาก คิดว่าโอกาสเรียนต่อคงมีบ้าง พ่อใช้จักรยานปั่นหาเสียงทั่วทั้งจังหวัด พร้อมกับพรรคพวกประมาณ 5–6  คน ที่จำได้มีพ่อ (ครูครอง) นายสวาสดิ์ ตราชู (ผู้สมัคร ส.ส.ในนามพรรคเศรษฐกรคู่กับพ่อ มีนายเทพ โชตินุชิตเป็นหัวหน้าพรรค) ภักดี พงษ์สิทธิศักดิ์ (น้องชายแม่) อบ พลวงศา (เพื่อนบ้าน) ปั่น มิ่งขวัญ (ชาวบ้านถ่อนลูกศิษย์พ่อ) ตระเวนปราศรัยหาเสียงทั่วทั้งจังหวัดสกลนคร ผลการเลือกตั้ง ผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง 3 คน คือ

1.     นายทองปาน วงศ์สง่า
2.     นายประทีป ศิริขันธ์ (หลานชายนายเตียง)
3.     นายครอง  จันดาวงศ์

เมื่อพ่อได้เป็นผู้แทนแล้วผมก็ยังไม่มีโอกาสเข้าเรียนต่อ เพราะภาวะเศรษฐกิจยังไม่ลงตัว น้องๆ ก็ยังเรียนไม่จบ ผมยังต้องอยู่ช่วยงานบ้านต่อแต่ก็ทำให้สบายใจขึ้นบ้าง

จนกลางปี พ.ศ. 2501 ผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อรอการเรียนต่อในปีการศึกษา 2502 ระหว่างนั้นได้สมัครเข้าเรียนสายอาชีพที่โรงเรียนช่างกลไฟฟ้าวัดชนะสงคราม บางลำพู เรียนได้ประมาณ 3 เดือน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจตัวเองซ้ำ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 มีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาฯ แล้วมีการจับกุมนักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ นักเขียนและประชาชนจำนวนมาก ส่วนพ่อไม่อยู่กรุงเทพฯในตอนนั้น (ออกเยี่ยมราษฎรอยู่ที่อำเภอเมืองสกลนคร) บ้านพักที่กรุงเทพฯ มีผม นายเคน (ชาวบ้านม่วงไข่ที่ไปพักรักษาโรคตับ) และเพื่อนผมที่เรียนอาชีพด้วยกัน (ชื่ออะไรนึกไม่ออก) พวกเราไม่สามารถติดต่อทางบ้านได้

ผมตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนขายข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่สามารถขนกลับได้ให้เพื่อนบ้าน รวมทั้งไก่พันธุ์ไข่ที่เลี้ยงไว้ 10 กว่าตัว พร้อมทั้งกรงไก่เอากลับบ้าน 2 ตัว รวบรวมเงินจากการขายของเครื่องใช้ได้ประมาณพันกว่าบาทแล้วเดินทางกลับสว่างแดนดิน เมื่อกลับถึงบ้านไม่พบพ่อ รู้จากแม่ว่า พ่อหลบไปพักอยู่ที่บ้านอาอิน (บ้านดงสวรรค์ในปัจจุบัน) เพื่อรอดูสถานการณ์การกวาดล้างของฝ่ายคณะปฏิวัติ จนถึงต้นปี 2502 เมื่อเห็นว่า ไม่มีการติดตามจับกุม พ่อจึงกลับมาที่บ้านเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว ตอนที่มีการปฏิวัติ พ่อมีเงินติดตัวไม่ถึงพันบาท แม่ไปรับเงินเดือนพ่อก็ได้ไม่ถึง 5,000 บาท (เงินเดือน ส.ส. ขณะนั้น 5,000 บาท) ด้วยเงินจำนวนนี้ รวมกับเงินที่เหลือจากการค่ารถตอนผมกลับจากกรุงเทพฯ เราเริ่มต้นเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ขายไข่เพื่อการดำรงชีพ วันหนึ่งมีรายได้ไม่กี่บาท นาก็ไม่ได้ทำเอาไว้ ต้องซื้อข้าวกิโลกินไปวันๆ

ประวัติของ ครอง จันทร์ดาวงศ์

ช่วงฤดูการทำนา พ่อ แม่ ผมและน้องชาย (ธำรง เพิ่งจบ ม.6 ในปีนั้น) ช่วยกันทำนา ตื่นตอนเช้าควรครอง (น้องสาวที่กำลังเรียนชั้น ม.6) นำไข่ไก่ไปขายที่ตลาด ได้เงินแล้วซื้อข้าวสารจ้าวมาประมาณ 2 กิโลกรัม พร้อมทั้งข้าวเหนียวนึ่งใสถั่วเขียวโรยงาและน้ำตาล 5 ห่อๆ ละ 25 สตางค์มาแจกกันคนละห่อเป็นอาหารเช้า พอดำนาไปจวนเสร็จแม่ต้องขึ้นไปก่อนเพื่อจัดการหุงข้าวปลาไว้กินตอนเที่ยง พวกเราเสร็จขึ้นมาอาบน้ำก็กินข้าวพักผ่อนบ้าง บ่ายลงถอนกล้าไว้ปักดำวันรุ่งขึ้น     

ระยะนี้พ่องดให้ชาวบ้านเข้ามาเยี่ยมเยือน เพราะกลัวจะถูกเพ่งเล็งทางการเมืองและอาจเป็นเหตุให้ถูกจับกุม พวกเราทำงานกันวันละ 12 ชั่วโมง ต่อสู้กับความยากลำบากไปจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว ความยากลำบากในครอบครัวผ่อนคลายลงบ้าง

ในช่วงระหว่างที่พ่อค่อนข้างจะเก็บตัวนี้ พ่อให้ผมเป็นผู้ประสานงานสังคมต่างๆแทน พ่อมีความตั้งใจสูงว่าจะให้ผมสืบทอดทางการเมืองแทนท่าน (หวังจะให้เป็น ส.ส.เหมือนพ่อ) ผมจึงมีบทบาทออกช่วยงานสังคมค่อนข้างมาก เช่นการจัดวงดนตรีสมัครเล่นของคนหนุ่มสาว ออกช่วยงานวัดตามเทศกาลต่างๆ จุดหนักจะอยู่ที่วัดโพธิ์ศรี อำเภอสว่างแดนดิน ที่มีท่านพระครูบริพันนวการ (พระครูเผย) เป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น การจัดงานเช่นนี้ขึ้น ได้รับการต้อนรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดี ทำให้ผมมีภารกิจทางสังคมมากขึ้น (มาตุคาม ผู้เขียนหนังสือ ‘ครอง จันดาวงศ์ เขาคือใคร’ ที่มีข้อความตอนหนึ่งว่านายครองให้บุตรชาย คือ นายวิทิต จันดาวงศ์ ไปตั้งวงดนตรีชื่อคณะหอมหวน เพื่อเคลื่อนไหวมวลชนก็คงเอาข้อมูลมาจากเรื่องนี้ ซึ่งไม่ตรงความจริงมากนัก) คณะดนตรีเราไม่ได้ตั้งชื่อมีแต่ชาวบ้านเขาเรียกกันเองว่า“คณะหนุ่มสาว” พวกเราก็เลยใช้เรียกตัวเองตามชาวบ้าน (วัตถุประสงค์ เขียนไว้ใน บทบาทชีวิต แนวคิดการเมืองครูครอง จันดาวงศ์)

เมื่องานสังคมดังกล่าวมีมากขึ้น ทำให้ผมมีเวลาช่วยงานครอบครัวน้อยลง ภาระหนักในครอบครัวจึงตกอยู่กับพ่อ แม่และน้องชาย ทำให้พ่อมีอารมณ์บ้าง ท่านต่อว่าผมไม่สนใจการงานทางบ้านเลยปล่อยให้ภาระหนักตกอยู่บนบ่าพ่อกับน้อง ผมฟังตอนแรกก็รู้สึกอึดอัด น้อยใจ ไม่สบายใจ เกือบจะตัดสินใจเลิกล้มงานทางสังคมนั้นเสีย (ตอนนั้นเตรียมซ้อมดนตรีกับเพื่อนๆเพื่อแสดงงานประจำปีวัดโพธิ์ศรี) แต่มาคิดอีกทีหากผมเลิก เพื่อนๆ ก็คงเลิกล้มตาม ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับผมเองและส่งผลเสียถึงพ่อด้วย ผมนิ่งและไม่ได้โต้เถียงกับพ่อแม้แต่คำเดียวและก็ยังไปซ้อมดนตรีกับเพื่อนด้วยความไม่สบายใจต่อไป

 หลังจากนั้นประมาณสามวันก็เสร็จภารกิจทางสังคม ผมเริ่มทำงานบ้านอย่างเอาจริงเอาจังถือว่าเป็นการทดแทนหรือชดเชยที่ผมห่างเหินไปนานหลายวัน โดยไม่ปริปากพูดหรือบ่นอะไรเลย พ่อสังเกตพฤติกรรมผมและคงเดาได้ว่าผมคิดอะไรอยู่แต่ท่านก็ไม่พูดอะไรและยังพูดคุยตามปกติในครอบครัวจนถึงวันครบรอบการเปิดประชาธิปไตยในครอบครัวเดือนละ 1 ครั้ง (ถ้าผมจำไม่ผิดเราจะกำหนดทุกวันที่ 20 ของเดือน พ่อแม่ ลูกพร้อมหน้ากันเสนอความเห็นว่าพ่อแม่และลูกแต่ละคนมีความหนักอกหนักใจต่อกันอะไรบ้างในรอบเดือนที่ผ่านมาและเสนอแนวทางแก้ไข)

ผมได้เสนอความเห็นต่อพ่อว่า“ผมทิ้งภารกิจในครอบครัวให้พ่อกับน้องนั้น เพราะภารกิจทางสังคมทั้งหมดพ่อเป็นผู้มอบหมายให้ผมไปทำ พ่อไม่น่าจะลืมและไม่ควรต่อว่าผมโดยไม่สอบถาม พ่อใช้อารมณ์กับลูกที่ไปทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากพ่อเอง ผมเกือบจะเลิกล้มงานกลางคันแล้วแต่เกรงจะเป็นผลเสียถึงพ่อจึงต้องจำทนทำต่อไปจนบรรลุหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ”  เมื่อผมเสนอความเห็นแบบค่อนข้องน้อยใจจบแล้ว พ่อนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งก็ชี้แจงว่า

พ่ออาจจะมีอารมณ์นั้นเป็นเรื่องจริง เพราะสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในครอบครัวเราที่ค่อนข้างยากลำบาก ต้องทำงานหนักกันทุกคน ประกอบกับการจำกัดตัวเองภายในบ้าน โดยไม่ออกสู่สังคมภายนอก มันไม่ต่างอะไรกับคนติดคุก ทั้งเป็นเหตุให้เราไม่สามารถแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ในครอบครัวได้ พ่อผิดเองและขอโทษลูกด้วยจะให้พ่อไหว้ขอโทษก็ได้

ผมตะลึงและตกใจที่ได้ยินคำขอโทษจากพ่อ ความน้อยใจที่ผมมีต่อพ่อหายไปเป็นปลิดทิ้ง ทั้งยังละอายตัวเองที่วิจารณ์พ่อแรงไปหน่อย ที่ผ่านมาไม่เคยมีการวิจารณ์ที่รุนแรงขนาดนี้ ผมยกมือไหว้ขอโทษ พ่อยังพูดต่อไปอีกว่า“ต่อไปนี้พ่อจะเลิกกักขังตัวเองอยู่แต่ในบ้าน ต้องกล้าออกสู่สังคมภายนอก เพื่อหาทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัวเรา เลิกกลัวเสียที” (กลัวรัฐบาลจับกุมในข้อหาการเมือง) จากวันนั้นเป็นต้นมาพ่อก็ออกไปไหนมาไหน พบปะราษฎรและหาเงินมาจุนเจือครอบครัวทำให้แก้ปัญหาความเป็นอยู่ในครอบครัวได้บ้าง

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง :

วิทิต จันดาวงศ์ : จาก ม.17 – ม.112 กฎหมายพรากชีวิตและปิดปากผู้เห็นต่าง

วิทิต จันดาวงศ์ : จาก ม.17 ถึง ม.112

วิธีการฆ่าคนอีสานของรัฐไทย : ฆ่าครูครอง จันดาวงศ์ (1)

image_pdfimage_print