เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในไทยเปลี่ยนจากกระจุกในกรุงเทพฯ ลามไปในต่างจังหวัด เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มียอดผู้ติดเชื้อเพียง 1 ใน 4 ทั่วทั้งประเทศ แต่รัฐบาลก็ยังจัดสรรวัคซีนให้กับเมืองหลวงเหมือนเดิม โดยไม่สนที่จะกระจายไปยังต่างจังหวัด

ถือเป็นข่าวดีที่ตอนนี้การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทยเพิ่มขึ้นถึง 173% ในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนนับจากวันที่ 9 กรกฎาคมถึง 8 สิงหาคม ที่น่าประทับใจยิ่งไปกว่านั้น คือ การฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ อสม. เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ประชาชนทั่วไป ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 305% และโดยเฉพาะสองกลุ่มหลังที่เป็นกลุ่มที่สมควรจะได้รับวัคซีนก่อนใครมากที่สุด มีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 391%

ทุกอย่างดูเหมือนจะดี

แต่ข่าวร้าย คือ การกระจายวัคซีนยังคงไม่ได้สัดส่วน โดยจำนวนวัคซีนที่ฉีดให้กลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวพุ่งขึ้นถึงเกือบ 4 เท่า ทั้งที่ก่อนหน้านี้ คนทั้ง 2 กลุ่มมีมากถึง 18 ล้านคนหรือคิดเป็น 36% ของกลุ่มเป้าหมาย แต่เข้าถึงวัคซีนได้น้อยนิด แม้จะถูกจัดเป็นกลุ่มผู้ที่มีสิทธิได้รับวัคซีนก่อนก็ตาม แต่ได้รับวัคซีนเพียง 13% และ 8% ตามลำดับ ล่าสุดอัตราการฉีดวัคซีนใน 2 กลุ่มนี้ยังเพิ่มเป็นเพียง 17% และ 10% เท่านั้น

The Isaan Record รายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า สัดส่วนการกระจายวัคซีนระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลกับจังหวัดอื่นๆ ที่เหลือในประเทศมีความเหลื่อมล้ำอย่างหนัก สถิติการฉีดวัคซีนอย่างเป็นทางการของกระทรวงสาธารณสุขแสดงให้เห็นว่า วัคซีนเข็มแรกถึง 48% ถูกจัดสรรไปให้ประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 235% เมื่อเทียบกับอัตราส่วนประชากรในพื้นที่ ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ได้รับส่วนแบ่งวัคซีนรวมกันแล้วเพียง 65%

ส่วนภาคใต้ตอนบนได้รับวัคซีนถึง 154% เมื่อเทียบกับอัตราส่วนประชากร ภูเก็ตได้รับวัคซีนเข็มแรกมากกว่ากรุงเทพฯ เมื่อคำนวณตามสัดส่วนประชากรและได้รับเข็มแรกมากกว่าอีสาน 12 เท่า และเข็มสองมากกว่าถึง 21 เท่า

ขณะเดียวกัน ภูมิภาคอื่นๆ ที่เหลือได้รับวัคซีนน้อยกว่าจังหวัดเหล่านี้อย่างเห็นได้ชัด ภาคกลางได้รับวัคซีน 63% เมื่อเทียบกับอัตราส่วนประชากร ภาคใต้ตอนล่างได้รับ 65% ภาคเหนือ 58% และอีสานได้รับน้อยที่สุดตามคาดเพียง 48%

จนถึงตอนนี้ ตัวเลขดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่

นโยบายวัคซีนแบบ “กรุงเทพฯ ต้องมาก่อน”

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยปฏิเสธที่จะเข้าร่วมโครงการกระจายวัคซีนระดับโลกอย่างโคแวกซ์อย่างมั่นอกมั่นใจ เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิดในระลอกแรกๆ มีจำนวนต่ำ บวกกับความกระตือรือร้นของภาครัฐที่จะสร้างแหล่งท่องเที่ยวปลอดเชื้อโควิดขึ้น

แต่การติดเชื้อระลอกสามก็ถาโถมอย่างหนักจนรัฐบาลตั้งตัวไม่ติด หลังจากฝากความหวังทั้งหมดไว้กับวัคซีนซิโนแวค แต่ผลการศึกษาจากหลายแหล่งเผยว่า มีประสิทธิภาพต่ำและวัคซีนแอสตร้าเซเนกาจากโรงงานภายในประเทศก็ไม่สามารถผลิตส่งมอบได้ตามเป้า ส่งผลให้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขต้องพยายามดิ้นรนสั่งซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ แต่แน่นอนว่า ตอนนี้ไทยต้องไปรอต่อแถวอยู่ท้ายขบวน

หลังดึงดันปฏิเสธจะเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์นานถึงห้าเดือน ในขณะเดียวกับที่ดูไม่มีวี่แววว่าไทยจะหาวัคซีนจำนวนมากเข้ามาเพิ่มได้ในเร็วๆ นี้ รัฐบาลก็ยอมประกาศในเดือนกรกฎาคมว่า จะพิจารณาเข้าร่วมโครงการในปีหน้า

ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังขาดแคลนวัคซีนอย่างหนัก คงดูเป็นเรื่องสมเหตุสมผลถ้ารัฐบาลจะเริ่มพิจารณาเปลี่ยนแปลงนโยบายการกระจายวัคซีน

ก่อนหน้านี้ กรุงเทพฯ และปริมณฑลสามารถโต้แย้งได้ว่าเป็นพื้นที่ๆสมควรได้รับวัคซีนมากกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากมียอดผู้ติดเชื้อรวมกันมากกว่าครึ่ง แต่เมื่อถึงเดือนมิถุนายนก็เห็นได้ชัดว่า กลุ่มก้อนการติดเชื้อนั้นกระจายไปทั่วทั้งประเทศแล้ว

รัฐบาลไทยตระหนักถึงความไม่สมดุลอย่างหนักนี้และพยายามหาทางรับมือแก้ปัญหาดังกล่าวบ้างหรือไม่

ปรากฏว่า ไม่เลย 

ขณะที่รัฐบาลยกหางตัวเองฉลองจำนวนการฉีดวัคซีนที่เข้าใกล้ 20 ล้านโดส ณ วันที่ 8 สิงหาคม ข้อมูลสถิติจากกระทรวงสาธารณสุขก็แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลยังคงเน้นส่งวัคซีนให้กับกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงให้สิทธิพิเศษคนบางกลุ่ม แทนที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสมควรจะได้รับวัคซีนมากกว่า

อัตราการติดเชื้อโควิด-19 รายวันในกรุงเทพฯ (สีน้ำเงิน) มีจำนวนลดลง ในขณะที่ผู้ติดเชื้อนอกกรุงเทพฯ (สีฟ้า) เพิ่มสูงขึ้น ที่มา: รายงานความคืบหน้าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลก วันที่ 12 สิงหาคม 2564

ความเหลื่อมล้ำในภูมิภาค

การกระจายวัคซีนในไทยเป็นไปโดยไม่เสมอภาคตั้งแต่แรก จากข้อมูล ณ วันที่ 8 กรกฎาคม กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รับจัดสรรวัคซีนถึง 47% จากจำนวนที่ฉีดทั้งหมด แม้จะมีอัตราส่วนประชากรเพียง 20.6% (ดูตารางถัดไป) เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรแล้ว จำนวนวัคซีนที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รับคิดเป็นอัตราถึง 227% ในขณะที่อีสานได้รับเพียง 52% 

หากวัคซีน 100 โดส ถูกจัดสรรให้ทั่วประเทศอย่างเท่าเทียมกัน อีสานจะได้รับ 30.6 โดส กรุงเทพฯ และปริมณฑล 21 โดส และภูเก็ตน้อยกว่า 1 โดส แต่จากข้อมูลเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้รับไปแล้ว 46 โดส อีสานได้ 16 โดส และภูเก็ตได้ 3 โดสครึ่ง จำนวนวัคซีนเทียบกับสัดส่วนประชากรที่อีสานและกรุงเทพฯ ได้รับนั้นมีค่าความต่างกันอยู่ที่ 5.8 พูดอีกอย่างหนึ่งคือ จากจำนวนวัคซีนทุกๆ 6 โดสที่กรุงเทพได้รับ อีสานจะได้เพียง 1 โดสเท่านั้น

แม้ประเทศจะยังขาดแคลนวัคซีน แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกลับได้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สาม เนื่องจากนโยบายการทุ่มฉีดซิโนแวคในระยะแรกๆ (เริ่มลดจำนวนลงเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม) อย่างไรก็ตาม จำนวนวัคซีนที่ไม่เพียงพอ บวกกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้น กลับไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะโน้มน้าวให้รัฐบาลเปลี่ยนแนวทางการกระจายวัคซีน

จากข้อมูลระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคมถึง 8 สิงหาคม อัตราการฉีดวัคซีนเทียบกับสัดส่วนประชากรในกรุงเทพฯ และปริมณฑลลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 216% หมายความว่า เริ่มมีวัคซีนกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศมากขึ้นความเปลี่ยนแปลงของการกระจายวัคซีนในภูมิภาคต่างๆ ของไทย (8 ก.ค. และ 8 ส.ค. 2021)

โดยรวมแล้ว การฉีดวัคซีนทั่วประเทศมีอัตราเพิ่มขึ้น 75% จากสัดส่วนของวัคซีนล็อตใหม่ที่อีสานได้รับเพิ่มขึ้นเป็น 80% ขณะที่ในภาคกลางลดลงเป็น 70% ส่วนภาคใต้ตอนล่างเป็นพื้นที่ๆ ได้รับสัดส่วนวัคซีนสูงขึ้นมากที่สุดถึง 129% ส่วนที่จังหวัดภูเก็ตได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นพอประมาณ ด้วยความที่ก่อนหน้านี้ภูเก็ตเป็นพื้นที่ที่ได้รับสัดส่วนวัคซีนสูงกว่าอัตราส่วนประชากรอยู่แล้วถึง 5 เท่า

สรุปแล้ว จำนวนวัคซีนที่เพิ่มขึ้นทั่วทั้งประเทศก็ยังคงอยู่ในอัตราส่วนที่สะท้อนถึงการกระจายที่เหลื่อมล้ำมาตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 มิถุนายนอยู่ดี

อัตราการฉีดอัตราการฉีดวัคซีนสะสมเมื่อวันที่ 8 ก.ค. และวันที่ 8 ส.ค.ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข

ลำดับความสำคัญผิดเพี้ยน

ทุกประเทศทั่วโลกวางแผนกระจายวัคซีน โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่สมควรได้รับก่อน เนื่องจากคนบางกลุ่มมีความเปราะบางต่อไวรัสโควิด-19 มากกว่ากลุ่มอื่น รัฐบาลแต่ละประเทศจึงกำหนดให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มที่ควรได้รับความปลอดภัยก่อนเพื่อพวกเขาจะสามารถดูแลประชากรที่เหลือในประเทศไปในวิกฤตการระบาด จากนั้นจึงตามมาด้วยกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวและผู้สูงอายุ

นั่นคือข้อกำหนดที่ประเทศไทยวางไว้เช่นเดียวกัน รายงานสถิติวัคซีนของสำนักข่าวรอยเตอร์สระบุว่า รัฐบาลไทยจัดกลุ่มผู้มีสิทธิได้รับวัคซีนตาม “อาชีพ สุขภาพร่างกาย และอายุ” และแบ่งกลุ่มตามลำดับความสำคัญออกเป็นสองกลุ่ม ดังนี้

ลำดับที่ 1

✅ บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า (เจ้าหน้าที่สาธารณสุข)

✅ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง

✅ ผู้มีอายุอย่างน้อย 60 ปี

✅ บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า (เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคผู้ดูแลผู้ป่วย)

ลำดับที่ 2

✅  บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ใช่ด่านหน้า (เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ)

✅ พนักงานภาคการท่องเที่ยว

✅ พนักงานภาคการขนส่งทางอากาศ (พนักงานสายการบิน)

✅ ผู้มีความจำเป็นต้องเดินทางระหว่างประเทศ

✅ ประชาชนทั่วไป

✅ เจ้าหน้าที่ทางการทูต

✅ พนักงานองค์กรระหว่างประเทศ

✅ นักธุรกิจชาวต่างชาติและชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศ

✅ พนักงานภาคการบริการ (ภาคอุตสาหกรรมและการบริการ)

แล้วประเทศไทยยึดหลักตามลำดับความสำคัญนี้มากน้อยเพียงใด

กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีราว 712,000 คน ได้สิทธิ์ฉีดวัคซีนเข็มสามก่อนใครเพื่อน จึงทำให้กลุ่มนี้ได้รับวัคซีนไปแล้ว 248% (ในที่นี้ จำนวนเต็มของวัคซีนที่ครบสูตร 2 เข็มคิดเป็น 200%) เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ได้รับวัคซีนครบถ้วน และอาจจะมากเกินไปเสียด้วยซ้ำ

ส่วนเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จำนวน 1 ล้านคน ถูกจัดเข้ากลุ่ม “เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคผู้ดูแลผู้ป่วย” และได้รับวัคซีนไปแล้วราว 18% ของจำนวนทั้งหมดที่ต้องได้รับการจัดสรร หมายความว่า ยังเหลือวัคซีนอีก 1.25 ล้านโดสที่ต้องฉีดให้กลุ่มนี้

สำหรับกลุ่มที่เปราะบางมากที่สุด อย่าง ผู้มีโรคประจำตัวและผู้สูงอายุนั้น มีมากกว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มเป้าหมายรวม 50 ล้านคน ตามข้อกำหนดของรัฐบาล กลุ่มนี้กลับได้รับความสนใจน้อยที่สุดและได้วัคซีนไปเพียง 17% ของจำนวนที่ต้องได้รับการจัดสรร

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้กลุ่มผู้ที่เปราะบางที่สุดในไทยไม่ได้รับวัคซีนตามที่ควรจะเป็นเป็นเพราะมีคนจากกลุ่มอื่นมาเบียดเบียนวัคซีนไปจากพวกเขา ผู้ที่ถูกจัดเข้ากลุ่ม “บุคลากรด่านหน้า” จำนวน 1.9 ล้านคน ถูกมองว่า มีความสำคัญมากกว่าและได้รับวัคซีนไปแล้วราว 39% ของจำนวนที่ต้องได้รับการจัดสรร

อันที่จริงแล้ว มีเจ้าหน้าที่บางคนในภาคอีสานที่ได้รับวัคซีนแม้จะไม่ได้ทำหน้าที่เป็น “ด่านหน้า” โดยเฉพาะ แต่ก็ถือเป็นจำนวนที่ไม่มากมายเท่าไรนัก

สถิติการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทย (ข้อมูลเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564) อธิบายการจัดสรรวัคซีน จำนวนวัคซีน และจำนวนประชากร โดยมีบุคลากรทางการแพทย์/อสม./จนท.ด่านหน้า/ผู้สูงอายุ/ผู้มีโรคประจำตัว/ปชช.ทั่วไปที่มา: กระทรวงสาธารณสุข

ประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ได้วัคซีนมากกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว เช่น ในโครงการ “แซนด์บ็อกซ์” ที่ภูเก็ต ประชากรที่ได้ฉีดครบ 2 โดสมีสัดส่วนถึง 72% ของจังหวัดหรือคิดเป็นจำนวนวัคซีน 760,000 โดส

แต่กลุ่มที่ได้รับวัคซีนมากที่สุดกลับเป็น “ประชาชนทั่วไป” ซึ่งได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 39% ของจำนวนที่ต้องได้รับการจัดสรรมากกว่าจำนวนวัคซีนที่ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวได้รับเกือบ 2 เท่า

มองเผินๆ แล้ว ดูเหมือนกับว่า รัฐบาลไทยไม่เคยจริงจังที่จะกระจายวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ที่เปราะบางที่สุด โดยอาจมีข้อยกเว้นแต่เพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น เมื่อเทียบสัดส่วนวัคซีนกับอัตราประชากรแล้ว ผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ ได้รับวัคซีนมากกว่าผู้สูงอายุในอีสาน 5 เท่า และมากกว่าผู้สูงอายุในภาคกลางถึง 6 เท่า ส่วนผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังในกรุงเทพก็มีแนวโน้มจะได้ฉีดวัคซีนมากกว่าในพื้นที่อื่นๆ ถึง 7 เท่า

ค่าความต่างของการฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข

ส่วนกลุ่ม อสม. ที่อยู่ในพื้นที่นอกกรุงเทพฯ ได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่า คาดว่า เป็นเพราะ อสม.ในกรุงเทพฯ มีจำนวนไม่มากนัก

แต่กลุ่มที่แสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มประชาชนทั่วไป โดยจากทุกๆ สิบคนที่ได้ฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ จะมีคนเดียวในภาคเหนือเท่านั้นที่ได้ฉีดวัคซีน

แน่นอนว่า สถิติการฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ นั้นรวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด ซึ่งเดินทางไปรับวัคซีนที่นั่นด้วย

ปัญหาของการฉีดวัคซีนที่ต่างจังหวัดนั้นมีตั้งแต่เว็บไซต์ของโรงพยาบาลล่ม ไปจนถึงเมื่อหน่วยงานท้องถิ่นประกาศเปิดคิวฉีดวัคซีนล็อตใหม่ โควต้าลงทะเบียนออนไลน์กลับเต็มภายในไม่กี่นาที หากว่าพอมีเส้นสายหรือโชคดีลงทะเบียนทัน ประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอื่นๆ ก็จะเดินทางไปฉีดวัคซีนที่กรุงเทพฯ บางคนอาจอยู่ในกลุ่มเปราะบาง แต่หลายคนก็อยู่ในกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ดิ้นรนให้ตัวเองได้ฉีดวัคซีนเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

กระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียม

ขณะนี้ เริ่มมีสัญญาณแสดงให้เห็นว่า วัคซีนกำลังถูกกระจายออกไปอย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยในกรุงเทพฯ กำลังเข้าใกล้จุดอิ่มตัว ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ดี เพราะรัฐบาลจะได้ส่งวัคซีนออกไปให้ภาคอื่นๆ ได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันระบบลงทะเบียนอันยุ่งยากซับซ้อนก็ทำให้เป็นเรื่องลำบากสำหรับคนที่อยากเปลี่ยนวัคซีนโดสที่สองเป็นยี่ห้ออื่นที่มีประสิทธิภาพดีกว่า

วิกฤตการระบาดของโควิด-19 เผยให้เห็นทั้งด้านสว่างและด้านมืดของทุกๆ ชาติ สถานการณ์การแพร่กระจายของไวรัสและแนวทางการรับมือในแต่ละประเทศก็ต่างกันออกไป ในระยะแรกๆ ที่แคนาดา รัฐบาลเลือกหลักความเสมอภาคและกระจายเข็มแรกออกไปให้ได้มากที่สุดก่อน โดยหวังจะได้รับเข็มสองเข้ามาเติมให้ทันการณ์ในภายหลัง ในขณะที่สหรัฐอเมริกานั้นมีวัคซีนจำนวนเหลือเฟือและมีประชาชนนับล้านแล้วที่ได้ฉีดเข็มสาม

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดสินใจอนุญาตฉีดวัคซีนเข็มสามเป็นการ “ป้องกันเอาไว้ก่อน” แม้จะยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับอย่างแน่ชัด และไม่ได้ให้เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุกับผู้มีโรคประจำตัวเท่านั้น แต่อนุญาตให้ฉีดได้ทุกคน ซึ่งการฉีดวัคซีนเข็มที่ “เกินความจำเป็น” ให้กับชาวอเมริกัน ก็เหมือนเป็นการแย่งชิงเอาไปจากประเทศที่กำลังขาดแคลนและมีความจำเป็นที่จะได้รับมากกว่า

ส่วนแนวทางการรับมือต่อการระบาดของโควิด-19 โดยรัฐบาลไทยนั้นกลับเดินไปอย่างเชื่องช้า ซึ่งคนไทยไม่ได้มีความลังเลที่จะฉีดวัคซีนมากเท่ากับความลังเลที่จะเชื่อใจภาครัฐ หลายคนสูญเสียความเชื่อมั่นในรัฐบาลจากการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพและการใช้โควิด-19 เป็นข้ออ้างในการปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง

การตัดสินใจฉีดวัคซีนเข็มสามให้บุคลากรทางการแพทย์นั้นดูเหมือนเป็นการสื่อสารกลายๆ ว่า วัคซีนที่ฉีดให้ก่อนหน้านั้นไม่มีประสิทธิภาพ และประชาชนทั่วไปก็เริ่มจะเชื่อว่า พวกเขาถูกบีบบังคับให้ฉีดวัคซีนที่มีความกังขา ไม่ว่านั่นจะเป็นความเข้าใจที่ถูกหรือผิดก็ตาม

จนกระทั่งถึงตอนนี้ รัฐบาลไทยก็ยังไม่สามารถกระจายวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมและไม่น่าแปลกใจเลยว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในชาติที่โอบรับระบบลำดับชนชั้นกับเส้นสายและส่ายหน้าให้กับคติของความเสมอภาค ประชาชนคนธรรมดากลายเป็นกลุ่มที่ถูกมองข้ามอยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ห่างไกลจากเมืองหลวง

ตอนนี้ยังไม่สายเกินไปที่รัฐบาลจะเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติ ด้วยการยกเครื่องแผนการเดิมและจัดลำดับความสำคัญให้กับ “ผู้ป่วยโรคประจำตัวเรื้อรัง” และ “ผู้มีอายุอย่างน้อย 60 ปี” อย่างแท้จริง และเท่าเทียมกันทั่วประเทศ โดยรัฐบาลควรจะฉีดวัคซีนคนใน 2 กลุ่มเปราะบางให้ครบถ้วนเสียก่อน แล้วค่อยวางระบบจัดสรรให้กลุ่มอื่นๆ ในลำดับถัดไป

มันไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย และจะช่วยรักษาชีวิตคนเอาไว้ได้อย่างนับไม่ถ้วนเลยทีเดียว

อ่านฉบับภาษาไทยอังกฤษได้ที่นี่ Factoring in Bangkok into Thailand’s notable vaccination inequality

image_pdfimage_print