แม้จะมีกระแสเรียกร้องให้ “แก้ไข” และ “ยกเลิก” ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่นับวันตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดีกลับเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีข้อถกเถียงว่า การเผาป้ายบุคคลในสถาบันฯ โดยเฉพาะ ร.10 เป็นความผิดตามกฎหมายนี้หรือไม่

The Isaan Record เรื่องและภาพ

การเผาป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 บริเวณหน้า ร.พ.ศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 13 กันยายน 2564 บ่งบอกได้ว่า “สถาบันพระมหากษัติย์อยู่ในภาวะเสื่อม” ในสายตาคนรุ่นใหม่อย่างเห็นได้ชัด  

เพราะหลังจากเหตุการณ์เผาครั้งแรก ถัดมาไม่กี่วันก็มีการเผาครั้งที่ 2 บริเวณวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น

นำมาสู่การออกหนังสือด่วนที่สุดของ กอ.รมน.จังหวัดขอนแก่น ให้เก็บป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ทั้งหมด โดยเฉพาะในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

แม้ต่อมาตำรวจเมืองขอนแก่นจะสามารถจับกุมผู้คาดว่า “ก่อเหตุ” ได้ โดยครั้งแรกของการเผาคาดว่า เป็นนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจำนวน 2 คน ส่วนการเผาครั้งที่ 2 คาดว่า เป็นนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น 1 คน ทั้งสองกรณีถูกออกหมายจับและได้รับการประกันตัวในภายหลัง 

ความไม่พอใจต่อเหตุการณ์ทั้งสองครั้งทำให้มี “กลุ่มสาวขอนแก่นฮักในหลวง” ออกแถลงการณ์ทวงคืนพระบรมฉายาลักษณ์ในเมืองขอนแก่น 

ทว่าการจับกุมผู้คาดว่า ก่อเหตุกับการออกมาแอคชั่นของกลุ่มสาวขอนแก่นฮักในหลวงก็ไม่อาจเรียกกระแสของการเสนอให้แก้ไขและยกเลิกมาตรา 112 หายไป

คดีก่อเหตุหน้า รพ.ศรีนครินทร์

กรณีการออกหมายจับ 2 นักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ “บอส” และ “เจมส์” ในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 นั้น “เสฐียรพงษ์ ล้อศิริรัตน์” หรือ ทนายเมษ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า คดีอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน โดยมีการแจ้งข้อกล่าวหาและคดีอยู่ในขั้นตอนรอพนักงานสอบสวนส่งสำนวนและผู้ต้องหาให้อัยการ 

เพื่อนๆ ต่างให้กำลังใจ “บอส” และ “เจมส์” นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 (แฟ้มภาพ)

บอส ย้อนเล่าเหตุการณ์ว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ตำรวจมาเคาะบ้านตั้งแต่ 7 โมงเช้า โดยยืนเรียกอยู่ชั้นล่างแล้วอ้างว่า “มีของมาส่งครับ”  ตอนนั้นก็สงสัยว่า เราไม่ได้สั่งของแล้วใครจะมาส่งอะไร เมื่อเราไม่ได้ลงมาจากชั้นสองเขาก็ใช้วิธีใหม่ โดยตะโกนว่า “น้องๆ มีคนมาชนรถ” พอค่อยๆ เปิดม่านดูจึงรู้ว่าตำรวจมาบ้าน 

เขาเล่าอีกว่า ตอนนั้นก็โทรหารุ่นพี่ที่รู้จัก คือ หมอลำแบงค์ (ปฏิภาณ ลือชา) ว่า จะทำยังไงดี หมอลำแบงค์จึงแนะนำให้รอก่อน เมื่อหมอลำแบงค์มาถึงบ้านจึงลงมาจากบ้านชั้นสอง จากนั้นตำรวจจึงแสดงหมายจับและพาไป สภ.เมืองขอนแก่น 

“วันที่โดนจับยอมรับว่า ตกใจ เพราะไม่ทันได้ตั้งตัว แต่ตอนนี้ก็ใช้ชีวิตปกติ เรียน รับงาน ตอนที่เพื่อนมารับหน้า สภ.ก็ดีใจว่า เรายังมีเพื่อนอยู่นะ” บอส กล่าว 

เมื่อวานนี้ (3 พฤศจิกายน 2564) บอส ได้เดินทางไป สภ.ขอนแก่นหลังถูกออกหมายจับ โดยตำรวจขอฝากขัง 12 วัน แต่ศาลอนุญาตให้ประกันด้วยเงินประกัน 35,000 บาทและต้องนัดรายงานตัววันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ 

คดีหน้าวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น

ส่วนอีกคดีหนึ่งที่เกิดขึ้นติดๆ กัน “เทพ” นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่นได้เข้าไปมอบตัวเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2564 หลังถูกออกหมายเรียก โดยเขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ก่อนเข้ารายงานตัวตำรวจได้เข้าไปค้นห้องพักของแฟนของเทพและยึดคอมพิวเตอร์ไป 

ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาคดีวางเพลิงเผาทรัพย์ และนำตัวไปฝากขัง แต่ศาลให้ประกันตัวเป็นเงินสด 30,000 บาท 

“ตอนนั้นผมไม่ได้รู้สึกกลัว ตอนแรกคิดว่า จะไม่มีคนช่วยผมแล้ว คิดว่าคงได้เข้าไปอยู่ข้างใน (เรือนจำ)เฉยๆ ผมไม่ได้หวาดระแวง โดยคิดไว้ล่วงหน้าบ้างว่า เขาจะแจ้งข้อหาอะไรบ้าง ผมคิดแบบนี้ เพราะเขายึดโน้ตบุ๊คผมด้วย”เทพ เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา  

ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 แล้ว มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท 

พัฒนะ ศรีใหญ่ หรือ ทนายอุ้ย ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ตำรวจยังไม่แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมนอกจากข้อกล่าวหาวางเพลิงเผาทรัพย์ โดยตำรวจอ้างว่า ใช้หลักฐานจากกล้องวงจรปิด ด้วยการไล่เวลาเกิดขึ้นที่เห็นว่า ผู้ต้องหาได้ปีนรั้วเข้าไปที่วิทยาลัยเทคนิคแล้วปาถุงน้ำมันใส่ด้านหลังพระบรมฯ (ติดกับถนนศรีจันทร์) 

คดีลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 โดยลูกจ้างบริษัทเอกชนชาวอำเภอหนองหาน อายุ 23 ปี ซึ่งในชั้นพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาวางเพลิงเผาทรัพย์ธรรมดา แต่เมื่อถึงชั้นอัยการได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่ม คือ ความผิดตามมาตรา 112 

เสฐียรพงษ์ ล้อศิริรัตน์ ซึ่งเป็นทนายเมษ ทนายความในเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (แฟ้มภาพ)

จับตาสำนวนในชั้นอัยการ 

เสฐียรพงษ์ ล้อศิริรัตน์ ซึ่งเป็นทนายเมษ บอกว่า คดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น มีความคล้ายกันคดีของ ไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ หรือแอมมี่ นักร้องและนักกิจกรรมทางการเมือง ที่ก่อเหตุเผาพระบรมฯ หน้าเรือนจำคลองเปรมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 

เมื่อทีมงาน The Isaan Record โทรศัพท์สอบถาม พ.ต.ท.เมธี ศรีวันนา สารวัตรปราบปราม สภ.เมืองขอนแก่นกล่าวถึงความคืบหน้าของคดีได้รับคำตอบว่า ขณะนี้คดีผ่านกระบวนการชั้นตำรวจไปแล้วจึงไม่สามารถให้ข้อมูลใดๆ เพิ่มเติมได้ 

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ จากเฟซบุ๊ก Sunai Phasuk  

การเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ผิด มาตรา 112 หรือไม่? 

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ (ประเทศไทย) แสดงความเห็นต่อกรณีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ว่า การเผาพระบรมฉายาลักษณ์ต้องได้รับการพิจารณาอย่างเคร่งครัด เพราะเป็นเรื่องของความผิดอาญา ตามหลักสากลการที่จะเป็นความผิดอาญาต้องตีความให้ตรงที่สุด แคบ เจาะจงมากที่สุด ไม่ใช่ตีความอย่างกว้าง 

“ต้องดูว่า การเผาพระบรมฉายาลักษณ์ การพ่นข้อความ พ่นสัญลักษณ์ต่างๆ ว่าเข้าข่ายสิ่งที่เป็นความผิดหรือไม่ เป็นการดูหมิ่น อาฆาตรมาตรร้าย คุกคามหรือไม่ แต่การตีความของรัฐไทยตอนนี้เป็นการขยายออกไปเป็นว่า อะไรที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่เคารพศรัทธา ถือเป็นความผิดด้วย”สุณัย กล่าว 

เขาอธิบายหลักกฎหมายอีกว่า ถ้าเป็นการทำให้เสียทรัพย์ถือเป็นการตีความตรงไปตรงมา แต่ตอนนี้กลับมีการพ่วงความผิดตามมาตรา 112 มาด้วย 

“คำถามของผม คือ ผิดมาตรา 112 อย่างไร ตำรวจจะต้องตอบคำถามนี้ ซึ่งไม่ควรสั่งฟ้องพร่ำเพรื่อ แต่ตอนนี้บรรทัดฐานการแจ้งข้อกล่าวหาหรือฟ้องมาตรา 112 ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นๆ มีทิศทางไปในทางที่ว่า อะไรที่เกี่ยวข้องกับพระบรมฉายาลักษณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานสอบสวน และอัยการ มีแนวโน้มที่จะแจ้งความผิดมาตรา 112”เขากล่าวด้วยความกังวล 

นอกจากนี้เขายังชี้ให้เห็นอีกว่า แนวโน้มที่ถูกเอาผิดหรือแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 มีมากกว่าการไม่เอาผิดหรือยกฟ้อง ซึ่งเป็นบรรยากาศที่เมื่อเสนอแล้วก็ต้องเอาผิดให้ได้ ดังนั้นโอกาสรอดจึงมีน้อย 

“ตอนนี้หลายกรณีไม่ได้เป็นประเด็นที่ตั้งอยู่บนการพิจารณาตามข้อกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด แต่เหมือนกับมีธง ถ้าโดนแล้วเป็นเรื่องของการต้องเอาผิดให้ได้”ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว  

เขายังให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้กฎหมายมาตรา 112 ไปในทิศทางเดียวกันกับองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆว่า ขณะนี้มีการใช้กฎหมายมาตรานี้เป็นเครื่องมือที่เกินกว่าเหตุ 

“ตั้งแต่การรัฐประหารของ คสช.เป็นต้นมา เราจะเห็นว่า มีการแจ้งความที่เกินเลยกว่าตัวกฎหมายไปมาก คือ กฎหมายในเนื้อหาที่เขียนไว้คือ พระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทน แต่ระยะหลังตีความเรื่องของตัวบุคคลก็เกินออกไป แล้วเรื่องของพฤติกรรมในการที่จะบอกว่าอะไรเป็นการก้าวล่วง ดูหมิ่น คุกคาม อาฆาตรมาตรร้าย ก็ขยายออกไป” เขากล่าว

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 24 เดือนพฤจิกายน 2563 ซี่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้กฎหมายทุกมาตร โดยเฉพาะมาตรา 112 ทำให้มีผู้ถูกจับกุมมากขึ้นและเมื่อถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีนี้แล้ว 154 คน

image_pdfimage_print