ฤาแก่งละว้าจะเหลือเพียงตำนาน เมื่อโรงงานน้ำตาลและเขตอุตสาหกรรมาเยือน 

แก่งละว้าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่รองรับมวลน้ำชีจากจังหวัดชัยภูมิที่มีความสำคัญต่อชาวบ้านอำเภอไผ่ อำเภอชนบท อำเภอบ้านแฮด อำเภอมัญจาคีรี และหลายพื้นที่ใช้หาอยู่หากินกับธรรมชาติก่อนไหลลงสู่ลำน้ำมูลและลำน้ำโขง 

หากการสร้างเขตเศรษฐกิจชีวภาพอีสานแห่งใหม่เกิดขึ้นภายใน 10 ปีนี้จริง ไม่เพียงแต่แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองเพียจะได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่พื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้าที่อยู่ใน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่นก็จะเปลี่ยนไปด้วย 

บรรยากาศยามเย็นแก่งละว้า อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ขณะที่ชาวบ้านกำลังหาปลา

แก่งละว้า นายฮ้อยและสายน้ำ  

แสงสียามเย็นสงบลง ฝูงวัว-ควายต่างเข้าคอก มีเพียงเสียงสนทนาปัญหาปากท้องจากเจ้าของวัว ขณะตั้งวงต้มปลาไหลใส่วัตถุดิบที่หาได้จากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาคลุกเคล้าคั่วลงในหม้อสีดำใบขนาดกลาง กลิ่นหอมคละคลุ้งทั่วบริเวณ 

ไม่นานเสียงเพลงจังหวะสนุกๆ จากการเคาะถังสีและขวดแก้วก็เริ่มขึ้น ทราบชื่อเพลงคือ  “ฉันทนาใจดำ” ของ รักชาติ ศิริชัย

“คอยเก้อจนสายไม่มีจดหมาย ส่งเข้ามา 

โอ้ฉันทนาสาวโรงงานใจดำ 

โถทำได้ลงเชียวหรือ 

ทอดทิ้งคนซื่อนอนช้ำ 

คอยเช้าคอยค่ำ 

คอยจดหมายไม่มา 

ฉันทนาหายหน้าไปไหน…”

บทเพลง “ฉันทนาใจดำ” รักชาติ ศิริชัย

เสียงขับร้องของ ไสว นามน ชายวัย 57 ปี ผู้เป็นเจ้าถิ่นบ้านชีกกค้อ อ.บ้านไผ่ ใช้ชีวิตท่ามกลางความเขียวขจีของทุ่งหญ้าในแก่งละว้าพื้นที่ชุมน้ำที่มีความสำคัญ ตระกูลของเขาอาศัยทุ่งโล่งเลี้ยงวัวควายสร้างอาชีพกันมาหลายรุ่นแล้ว 

(ชาวบ้านละว้ากำลังก่อไฟเพื่อทำอาหารมื้อเย็น)

ไสว เล่าให้ฟังว่า เคยมีที่นาในเขตอำเภอชนบท จ.ขอนแก่น แต่น้ำท่วมหลังสร้างเขื่อนระบายน้ำ ส่งผลให้ที่นาถูกน้ำท่วม

เขาเคยไปทำงานอยู่ซาอุดิอาระเบีย และอีกหลายประเทศ แต่เมื่อเบื่อชีวิตการเป็นกรรมกรเขาจึงกลับไทยแล้วเปลี่ยนมาเลี้ยงควายและหาปลาจากแก่งละว้า 

เขานิยามที่นี่ว่าเป็นหมู่บ้านอิสระ เพราะอยู่ด้วยกันแบบแลกเปลี่ยนกันด้วยทรัพยากร ใครมีปลา มีกุ้ง มีผักก็นำมาประกอบอาหารทานร่วมกันเสมือนคนในครอบครัว 

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนทุกคนต้องเตรียมแผนหาพื้นที่ให้วัวควายครั้งใหม่ เพราะบางฤดูน้ำท่วมสูงจึงโยกย้ายขึ้นลงตามระดับน้ำ ซึ่งปีนี้น้ำในแก่งละว้าท่วมสูง พวกเขาต้องนอนบนถนนลาดยางเพื่อเฝ้าวัวควาย

ไสวเล่าต่อว่า เมื่อฤดูแลกเปลี่ยนวัวควายมาถึง พวกเขาต้องนำขึ้นรถไปขายตามตลาดวัวในอำเภอต่างๆ บางคนโทรติดต่อให้นายหน้าค้าวัวมารับถึงหน้าคอกเลยทีเดียว  

“เราอยู่ที่นี่เหมือนบ้าน เพราะแต่ละคนอาศัยในหมู่บ้านละว้าและแถวนี้  มาหาอยู่หากินด้วยกัน อาศัยแก่งละว้าหาอาหารและเลี้ยงชีพ เลี้ยงวัว เลี้ยงควายเป็นกลุ่ม” ไสว เล่า  

ชาวบ้านจากอำเภอบ้านแฮดเดินทางมาจับปลาบริเวณแก่งละว้าเพื่อนำไปประกอบอาหาร ถือเป็นกิจกรรมยามค่ำคืนของคนที่ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ

คนหาปลากับแก่งละว้า 

ตอนนี้เป็นเวลาเที่ยงคืนกับอีกสิบนาทีเราเห็นแสงไฟสาดส่องอยู่กลางแก่งละว้า คือ กลุ่มชาวบ้านจากอำเภอบ้านแฮด อาศัยจังหวะน้ำลง หาปลากลางดึก 

พวกเขาทอดแหโต้ลมหนาวกันอย่างสนุก ท่ามกลางแสงดาวระยิบเหนือผืนน้ำ เสียงตะโกนแจ้งข่าวการจับปลาดังเป็นระยะ แต่ต่างคนจับ ปลาที่จับได้ส่วนใหญ่เป็นปลาเนื้ออ่อนที่ว่ายทวนกระแสน้ำ พวกเขาจับใส่กระซัง ครั้งแล้ว ครั้งเล่า 

“หนุ่ม” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนบ้านแฮดใช้เวลาว่างจากการหยุดเรียนออนไลน์ออกทอดแหกับเพื่อนและคนในหมู่บ้าน เขานั่งอยู่ท้ายกระบะสีขาว ข้างกายเขามีกระติบข้าวเหนืยวร้อนๆ วางพร้อมน้ำพริกปลาแดก แล้วเขาก็เอ่ยปากชวนให้ล้อมวงข้าว

“มาจ้ำปลาแดกกับหมูทอดนำกันอ้าย” เสียงเอ่ยปากชวนด้วยท่าทีเป็นมิตร 

ไม่นานนักก็มีชาวบ้านอีกกลุ่มขับรถมาจอดเทียบท่าเพื่อร่วมจับปลา “สำราญ” ชายวัย 68 ปี หนึ่งในชาวบ้านชีกกค้อ หมู่บ้านที่ตั้งอยู่กลางแก่งละว้าเล่าว่า มีรายได้จากการจับปลา 300-500 บาทต่อวัน ถ้าวันใดดักจับกุ้งฝอยก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น 

“อยู่ที่นี่หากินง่าย อยู่แก่งละว้าเรามีอาหารให้กิน หาปลาไปขายได้ตลอดปี ครอบครัวไม่มีที่ดินทำกิน เลยพาภรรยามาอาศัยแก่งละว้าอยู่กว่า 20 ปีแล้ว อยู่บ้านแบบชั่วคราว สร้างจากสังกะสี รายได้หลักมาจากการหาปลา” สำราญ ระบุ

สำราญ และภรรยากำลังประกอบอาหารอยู่ในเพิงพัก

แก่งละว้าถือเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้านไผ่ที่คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าฝากฝังให้เป็นแหล่งทำกินและเรือนตาย แต่เมื่อโครงการพัฒนาอย่างโรงงานน้ำตาลและนิคมอุตสาหกรรมมาเยือนพวกเขาจึงหวาดหวั่นว่า อาหารที่อุดมสมบูรณ์แบบนี้จะเหลือไว้ให้พวกเขาได้หากินอยู่หรือเปล่า 

หรือชีวิตของคนที่อาศัยแก่งละว้าจะต้องเสียสละเพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจชีวภาพอีสานแห่งใหม่ 

อ่านเรื่องราวเกี่ยวข้อง ชะตากรรมแหล่งโบราณคดีเมืองเพีย ใต้เงาเขตเศรษฐกิจชีวภาพอีสานแห่งใหม่

ดูวิดีโอเพิ่มเติม

image_pdfimage_print