บทความพิเศษชุด: ความหวานและอำนาจ

อีสานมีพื้นที่ปลูกอ้อยมากถึง 5 ล้านไร่ แต่กลับมีเครื่องวัดฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาอ้อยเพียงแค่ 3 จังหวัด คนอีสานจะอยู่อย่างไรเมื่อชีวิตต้องเผชิญกับฝุ่นร้ายนี้ในฤดูการเก็บเกี่ยวที่กำลังใกล้เข้ามา ติดตามซีรีส์ชุดพิเศษ ความหวานและอำนาจ ตอน 13 “เมื่อชีวิตคนอีสานเปื้อนฝุ่น PM 2.5”

ตอนที่ 13: เมื่อชีวิตคนอีสานเปื้อนฝุ่น PM2.5

ในที่สุด อภิชาติ สุวรรณสิงห์ ก็หายจากอาการไอเรื้อรังที่ใช้เวลานานกว่า 7 เดือน แต่หมอฟันวัย 30 ปี โรงพยาบาลนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภูก็เป็นห่วงว่า ฤดูเก็บเกี่ยวอ้อยครั้งถัดไปอาการเหล่านี้จะกลับมาอีก

“การไอเป็นเวลานานกว่า 7 เดือน บางครั้งก็เจ็บซี่โครง เป็นช่วงที่ทรมานมาก” เขากล่าวและว่า “เพราะปกติผมไม่แพ้อากาศเลย”

อภิชาติเพิ่งกลับมาจากการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อปีที่แล้ว เมื่อเขากลับมาก็สังเกตเห็นว่า อากาศไม่ดี เขาเริ่มมีปัญหาในการหายใจและป่วยประมาณเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ชาวไร่เริ่มเผาอ้อยในฤดูเก็บเกี่ยว

ข้อมูลจากโรงพยาบาลนาวังเปิดเผยต่อเดอะอีสานเรคคอร์ดว่า มีผู้ป่วยโรคหอบหืดและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2561 และเดือนมีนาคมของปีนี้

แม้รัฐบาลจะตระหนักว่า มลพิษทางอากาศเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชน ไม่เฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่กลายเป็นเมืองมลพิษทางอากาศแห่งหนึ่งของโลก แต่เมืองหลวงและภาคเหนือกลับมีการตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง แต่จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ตั้งอยู่ในแหล่งมลพิษทางอากาศกลับเป็น “จุดบอด”

ปัญหาหมอกควันในภาคอีสานมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในฤดูเก็บเกี่ยว

อีสานถือเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยมากที่สุดในประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคอีสานจึงเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์หมอกควันครั้งถัดไป

สถานีวัดอากาศในภาคอีสานเคยมีเพียง 12 แห่งใน 3 จังหวัดแต่ ข้อมูลจากเว็บไซด์กรมควบคุมมลพิษระบุว่า มีเพียง 3 แห่งที่มีศักยภาพตรวจวัดได้เต็มที่ ขณะที่ จ.อุบลราชธานีเพิ่งมี 1 สถานีเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนที่เหลืออีก 17 จังหวัดยังไม่มีระบบตรวจคุณภาพอากาศ

สถานีวัดอากาศอันน้อยนิดในอีสาน

วิกฤตหมอกควันของประเทศไทยทวีความรุนแรงมากเป็นพิเศษเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่กลายเป็น “เมืองมลพิษทางอากาศ” แห่งหนึ่งของโลก และกรุงเทพฯ ก็กลายติด 1 ใน 10 ของเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ของโลก

จังหวัดขอนแก่นก็ได้รับผลกระทบจากหมอกควันยาวนานหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม ซึ่งสำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัดขอนแก่นได้บันทึกระดับคุณภาพของอากาศผลปรากฎว่า อยู่ในระดับ “ไม่ดีต่อสุขภาพ”

แต่ในอีสานกลับมีสถานีวัดอากาศเพียง 3 จังหวัดเท่านั้น ส่วนอีก 17 จังหวัดไม่มีการรายงานข้อมูลที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพปอดของประชาชน

เดอะอีสานเรคคอร์ด สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมเขต 10 ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษและประชาชนในพื้นที่ รวมถึงรวบรวมข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลจากเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเคลื่อนที่ก็พบว่า มลพิษทางอากาศในอีสานอยู่ใน “ระดับวิกฤต” โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีการปลูกอ้อย

ธนาวุฒิ โนราช เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 จังหวัดขอนแก่น ตรวจความเรียบร้อยของสถานีตรวจวัดสภาพอากาศที่ตั้งอยู่ด้านหน้าสำนักงานองค์การบริหารส่วน (อบจ.) จังหวัด จ.ขอนแก่น

หนองบัว-อุดรฯ พบจุดความร้อนมากสุด

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานสิ่งแวดล้อมเขต 10 จังหวัดขอนแก่นได้บันทึกจุดความร้อนจากภาพถ่ายดาวเทียมในหลายจังหวัดภาคอีสาน โดยพบว่า จังหวัดหนองบัวลำภูและอุดรธานี ซึ่งเป็น 2 จังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยมากกว่าพื้นที่อื่นๆ พบจุดสีแดงเข้มบนแผนที่

ขณะเดียวกันสถานีวัดคุณภาพหลายแห่งในไทยก็ไม่มีศักยภาพในการตรวจวัดฝุ่นที่เป็นมลพิษทางอากาศที่เรียกว่า PM 2.5 อนุภาคฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้เป็นผลพวงจากการเผาไหม้จากโรงงานไฟฟ้า เตาเผา ไอเสียรถยนต์ ไฟป่าและการเผาไหม้ทางการเกษตร

ฝุ่นร้ายนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอนหรือ 1 ใน 30 ของขนาดเส้นผมของมนุษย์ที่เป็นอนุภาคในอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ที่ทำให้เกิดโรคหอบหืด การอักเสบของทางเดินหายใจและเพิ่มความเสี่ยงต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด หัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง

ปีที่แล้วองค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่า มีผู้เสียชีวิตกว่า 7 ล้านคนเสียชีวิตจากฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กในอากาศ การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เช่น ประเทศไทย

ธนาวุฒิ โนราช เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 จังหวัดขอนแก่น อ่านค่า PM 2.5 จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ตั้งอยู่ด้านหน้าสำนักงานองค์การบริหารส่วน (อบจ.) จังหวัด จ.ขอนแก่น

แต่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้ง 6 แห่งในจังหวัดขอนแก่น ไม่สามารถอ่านค่ามลพิษที่ถูกต้องในจังหวัดใกล้เคียงได้ (อ่านเพิ่มเติมจากบทความเรื่อง “สถานการณ์ฝุ่น PM2.5ในอีสาน” ในซีรีส์ความหวานและอำนาจ)

“เราควรมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในทุกจังหวัด แต่จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก” วิรุณภพ สุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 จังหวัดขอนแก่น กล่าว

ประเทศไทยมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่มีศักยภาพเพียง 66 สถานี ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคใต้ตอนล่าง ส่วนภาคอีสานมีเพียง 3 จาก 12 สถานี (แห่งที่ 4 อาจอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี) ที่มีศักยภาพในการอ่านค่าฝุ่น PM 2.5 และ PM 10 ได้ นอกนั้นเป็นสถานีตรวจวัดแบบเคลื่อนที่

สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่มีศักยภาพเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 10 ล้านบาทต่อสถานี และมีค่าบำรุงรักษารายปีอีกหลายแสนบาท ส่วนเครื่องตรวจวัดแบบเคลื่อนที่จะมีราคาถูกกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศักยภาพการใช้งาน

วิรุณภพ สุภาพ ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 จังหวัดขอนแก่น ใช้เครื่องมือตรวจวัดอากาศเคลื่อนที่วัดอากาศภายในและภายนอกอาคาร

แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ

ข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมเขต 10 จังหวัดขอนแก่นระบุว่า 4 ปีที่ผ่านมาฝุ่นร้าย PM 2.5 มีแนวโน้มสูงกว่าค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม

วิรุณภพ อธิบายอีกว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่นชนิดนี้มากที่สุด คือ การเผาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะไร่อ้อยและฟางข้าว ประกอบกับความกดอากาศสูงยังทำให้ระดับมลพิษไม่กระจายตัวและไม่มีฝนตกจึงทำให้บรรยากาศช่วงนั้นขมุกขมัว

“หมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านก็ทำให้สถานการณ์แย่ลง”วิรุณภพ กล่าว

แม้การเผาพืชผลทางการเกษตรในภาคอีสานจะเป็นเรื่องปกติ ยิ่งภาคอีสานมีพื้นที่ปลูกอ้อยมากที่สุดในประเทศ (ร้อยละ 46)

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) เมื่อปี 2561 ระบุว่า อีสานมีพื้นที่ปลูกอ้อยถึง 5 ล้านไร่ จังหวัดที่ปลูกมากที่สุด คือ อุดรธานี (711,900 ไร่) นครราชสีมา (672,952 ไร่) ขอนแก่น (650,196 ไร่) ชัยภูมิ (616,639 ไร่) กาฬสินธุ์ (432,111 ไร่) หนองบัวลำภู (315,706 ไร่) ตามลำดับ

หากเทียบกับขนาดของพื้นที่ จังหวัดหนองบัวลำภูถือว่า มีความหนาแน่นที่สุดร้อยละ 13.1 โดยแผนของ 10 ปี สอน.คาดว่า ภายในปี 2567 จะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยเป็นร้อยละ 53 ของประเทศ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นกว่า 5.57 ล้านไร่

ขณะที่ตัวเลขของเกษตรชาวไร่อ้อย 2 ใน 3 เป็นผู้ผลิตรายย่อยที่มีแนวโน้มเผาอ้อยในฤดูเก็บเกี่ยวมากกว่าผู้ปลูกรายใหญ่ ทั้งนี้ก็เพื่อประหยัดต้นทุนจากการจ้างงาน

เก็บเกี่ยวง่าย-ลดค้าจ้างสาเหตุเผาอ้อย

เมื่อปีที่แล้วราคาอ้อยลดลงเหลือ 450 บาทต่อตันจากราคา 880 บาทต่อตัน มานะ เมืองคุณ ประธานองค์กรชุมชนจังหวัดหนองบัวลำภู จึงเชื่อว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยหลายคนเลือกที่จะเผาไร่ของพวกเขาเพื่อให้การเก็บเกี่ยวง่ายขึ้นและประหยัดค่าจ้างแรงงาน

“ฤดูเก็บเกี่ยวเริ่มประมาณเดือนพฤศจิกายน พื้นที่ในจังหวัดหนองบัวลำภูก็จะเต็มไปด้วยเขม่าควันลอยในอากาศ”มานะ เล่า

การเผาไร่อ้อยถือเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมลพิษทางอากาศในภาคอีสาน ซึ่งยากต่อการควบคุมและกดดันไม่ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหลีกเลี่ยงการเผาพืชผลทางการเกษตร

ไม่มีเวทย์มนตร์ควบคุมมลพิษ

ผลพวงจากนโยบายรัฐบาล คสช.ที่ต้องการขยายพื้นที่การปลูกอ้อยมากขึ้นไม่เพียงส่งผลถึงการลดพื้นที่การปลูกข้าว แต่ยังส่งผลต่อคุณภาพอากาศในภาคอีสานแย่ลงด้วย

โดย สอน.ประเมินว่า การเผาอ้อยในภาคเหนือจะลดน้อยลง แต่อาจจะเพิ่มขึ้นในภาคกลางและภาคอีสาน

ปฏิวัติ ฤทธิเดช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะวิทยาการสารสนเทศ ม.มหาสารคามเชื่อว่า ภาคอีสานจะเผชิญวิกฤตมลพิษทางอากาศที่รุนแรงยิ่งขึ้น [อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นี่]

นักวิชาการผู้นี้คาดการณ์ว่า ความเข้มข้นของฝุ่น PM10 และ PM2.5 จะรุนแรงขึ้นเมื่อมีปริมาณการปลูกอ้อยและการเผาอ้อยเพื่อป้อนสู่โรงงานเพิ่มขึ้น

เขาแนะนำให้แก้ไขปัญหาด้วยการสร้างระบบตรวจสอบผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะเพื่อควบคุมการเผา

“รัฐบาลควรติดตั้งสถานีวัดอากาศขนาดเล็กที่ราคาถูกกว่าการติดตั้งสถานีวัดอากาศ แต่ให้ข้อมูลถูกต้องแม่นยำ เพื่อให้ประชาชนได้เฝ้าระวังภัยด้วยตัวเอง” ปฏิวัติ เสนอ

ขณะเดียวกันสำนักงานสิ่งแวดล้อมเขต 10 จังหวัดขอนแก่นยังวางแผนร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด รวมถึงบริษัทน้ำตาล อย่าง กลุ่มมิตรผล เพื่อแก้ปัญหาและป้องกันไม่ให้เกษตรกรเผาไร่

กรีนพีชเสนอติดตั้งสถานีวัดอากาศทุกจังหวัด

เพื่อรับมือมลพิษทางอากาศ จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสนอว่า สิ่งสำคัญประชาชนควรติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศอย่างทันท่วงที

“การติดตั้งสถานีวัดมลพิษทางอากาศให้ครบทุกพื้นที่ ถือเป็นวิธีแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ” จริยา กล่าว

เธอยังเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษกำหนดค่ามาตรฐานมลพิษทางอากาศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพราะค่ามาตรฐานของ PM 2.5 (ค่าเฉลี่ยต่อปี) ของไทยสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 2.5 เท่า

สัญญาติดตั้งสถานีวัดอากาศ

ประลอง ดำรงค์ไทยอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์เดอะอีสานเรคคอร์ดว่า ต่อจากนี้จะทำงานร่วมกับภาคเอกชนและผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้การวัดคุณภาพอากาศเป็นไปตามมาตรฐานยุโรปหรือตาม WHO

“กรมควบคุมมลพิษได้เงินจากงบกลาง” เขากล่าวและว่า “เราจะติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในอีก 3 จังหวัดภาคอีสาน”อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว

ฤดูเผาเริ่มขึ้นอีกครั้งในภาคอีสาน

ฤดูการเก็บเกี่ยวอ้อยกำลังจะเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ นั่นหมายความว่า การเริ่มเผาอ้อยจะเริ่มขึ้นในไม่ช้า สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในภาคอีสานที่เป็นพื้นที่ปลูกอ้อยอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่กลับไม่มีสถานีวัดอากาศ ไม่มีการแจ้งเตือนคุณภาพอากาศยอดแย่อย่างเป็นทางการจากภาครัฐ

โรงพยาบาลไกลปืนเที่ยงอย่าง “โรงพยาบาลนาวัง” จึงต้องพึ่งตัวเอง โดยเฉพาะการหาข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศเพื่อให้พวกเขาสามารถให้คำปรึกษาผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง

แม้ทันตแพทย์หนุ่ม อภิชาติ สุวรรณาสิงห์ โรงพยาบาลนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู จะกังวลว่า เขาจะกลับมาป่วยอีก

แต่อย่างน้อยเขาก็ดีใจที่รู้ว่า เขาหายใจเอาอะไรเข้าไปในปอด เมื่อแพทย์ในโรงพยาบาลคนหนึ่งได้ใช้เงินส่วนตัวซื้อเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบพกพาไว้ที่โรงพยาบาลเพื่อให้เขาสามารถติดตามคุณภาพอากาศในพื้นที่ได้

แม้จะเป็นเพียงสิ่งน้อยนิดที่สามารถทำได้ แต่ก็เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อให้อยู่รอดจากฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ที่เป็นภัยร้ายใกล้ตัวในพื้นที่ที่ขนาบข้างด้วยไร่อ้อยจำนวนมหาศาล

image_pdfimage_print