เครติดภาพ istock.com/tbradford

วีระวรรธน์ สมนึก เรื่อง 

“คนไร้บ้านทุกคนล้วนมีปัญหาชีวิต เพราะถ้าไม่มีปัญหา เขาคงไม่ออกมาจากบ้านเพื่อใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เป็นกลุ่มคนที่ยากลำบากที่สุดในบรรดากลุ่มคนจนเมือง สังคมจึงควรให้โอกาส เพราะโอกาสจะช่วยให้เขามีกำลังใจสู้ชีวิต ฝ่าฟันอุปสรรคปัญหา กลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้” ส่วนหนึ่งจากรายงานการวิจัย เรื่อง การกลายเป็นคนไร้บ้าน กรณีศึกษาคนไร้บ้านในเขตเทศบาลนครขอนแก่นปี 2561 ของ ผศ.วิบูลย์ วัฒนนามกุล ม.ขอนแก่น 

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราลงพื้นที่สอบถามความเป็นไปของชีวิตคนไร้บ้านจังหวัดขอนแก่น ในช่วงสถานการณ์ที่โรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดและไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดในเร็ววัน เพื่อค้นหาคำตอบเกี่ยวกับมาตรการของรัฐในการปกป้องดูแลพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขอนามัย อาชีพการงาน และความมั่นคงของชีวิต 

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องการสำรวจว่า พวกเขาจะเอาชีวิตรอดท่ามกลางวิกฤตแบบนี้ได้อย่างไร  

“คนไร้บ้าน อาจเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 น้อยกว่าคนกลุ่มอื่นก็เป็นได้ เพราะชีวิตประจำวันของพวกเขาไม่ได้พบปะใคร และด้วยอุปนิสัยส่วนตัว ก็ไม่อยากไปสุงสิงกับใครอยู่แล้ว แต่ถ้าพวกเขาติดขึ้นมาสักคน ก็มีโอกาสมากที่เชื้อจะกระจายกันในหมู่คนไร้บ้านด้วยกัน” ณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน (Friends of the Homeless) วิเคราะห์ถึงพฤติกรรมของคนไร้บ้าน ก่อนลงพื้นที่พูดคุยกับคนไร้บ้านในช่วงเย็นวันหนึ่ง 

นับตั้งแต่เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ ทุกเย็นวันพฤหัสบดี สมาชิกกลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้านจะร่วมกับหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่เพื่อแจกอาหารเเละอุปกรณ์ให้พวกเขา โดยเฉพาะบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 1 จังหวัดขอนแก่น สวนสาธารณะรัชดานุสรณ์ ศาลหลักเมืองจังหวัดขอนแก่น สวนสาธารณะประตูเมือง สถานีรถไฟ และบึงแก่นนคร เพื่อป้องกันโควิด-19 ให้แก่คนไร้บ้านเเละแรงงานนอกระบบ  

ใต้ทางรถไฟ สถานที่พักพิงคนไม่มีบ้าน 

จุดแรกของค่ำคืนนี้ เราลงพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟขอนแก่น ชุมทางจิระ-หนองคาย ซึ่งเดิมเคยเป็นที่อยู่อาศัยชุมชนริมทางรถไฟ แต่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท) ผู้รับผิดชอบหลักในการก่อสร้างรางรถไฟระบบทางคู่ ได้รื้อถอนชุมชนออกเมื่อปี 2559 บางคนจึงกลายเป็นคนไร้บ้านจากโครงการนี้ 

“คนไร้บ้านในกลุ่มนี้ บางคนเคยมีบ้านอยู่ในชุมชนเทพารักษ์ แต่เมื่อโครงการของรัฐมา พวกเขาก็ต้องออกจากชุมชนและกลายเป็นคนไร้บ้าน แต่ก็กลับมาอยู่ในที่ที่พวกเขาคุ้นเคยณัฐวุฒิเล่าถึงความเป็นมาของกลุ่มคนไร้บ้านที่อาศัยใต้ชายคารางรถไฟเป็นที่พักพิงยามค่ำคืน 

การเป็นคนไร้บ้านและผู้มีรายได้น้อย ทำให้พวกเขาเข้าไม่ถึงข้อมูลและความรู้เบื้องต้นในการดูแลตัวเอง เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยจากโรคร้ายที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในช่วงนี้ 

“พวกเขาเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ที่จะป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19 อย่างหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เจลล้างมือ น้ำสะอาด แม้กระทั่งที่พักพิงเพื่อกักตัวเองก็ยังไม่มี” ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน เล่าจากประสบการณ์การคลุกคลีกับคนไร้บ้านในจังหวัดขอนแก่น 

มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นประกาศให้สถานบันเทิง สถานศึกษา โรงมหรสพ ฯลฯ รวมถึงแหล่งรวมตัวอื่นๆ ปิดตัวชั่วคราว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคมเป็นต้นมา ส่งผลกระทบอย่างยากที่จะประเมิน  

“ตลาดนัด ตลาดสด ห้างร้าน สถานประกอบการขนาดเล็ก ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนไร้บ้าน พอห้างร้านเหล่านี้ได้รับผลกระทบ ถูกปิดตัวหรือลดการจ้างงานรายวัน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ รับจ้างรายวันก็ขาดรายได้ และขาดอาหารในการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งต่อตนเองและครอบครัว” ณัฐวุฒิกล่าวด้วยเสียงราบเรียบ  

สมาชิกกลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้านร่วมกับหน่วยงานรัฐลงพื้นที่ในช่วงเย็นวันพฤหัสบดีเพื่อทำ “กิจกรรมเยี่ยมเยียนถามไถ่ ห่วงหาอาทรคนไร้บ้าน ร่วมต้านภัยโควิด-19” จ.ขอนแก่น

ศาลหลักเมือง จ.ขอนแก่น อีกสถานพักพิงคนไร้บ้าน

ถัดจากสถานีรถไฟ เราเดินทางไปยังศาลหลักเมืองจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นสถานที่หนึ่งที่ประชากรคนไร้บ้านอยู่อาศัย เพราะมีแสงไฟจากเทศบาลขอนแก่นส่องสว่างสร้างความปลอดภัยให้พวกเขาตลอดทั้งคืน 

ศรศิริ วิปประเสริฐ ชายวัย 25 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดอุดรธานี อดีตลูกมือช่างซ่อมแอร์ย่านลาดกระบัง ที่นั่งรถไฟจากหัวลำโพงมาจังหวัดขอนแก่นหลังถูกเลิกจ้างได้ประมาณหนึ่งเดือน และตัดสินใจเป็นคนไร้บ้านที่นี่ 

“เพราะไม่มีค่ารถกลับบ้าน ผมเลยตัดสินใจเป็นคนไม่มีบ้านและอยู่ที่นี่” ศรศิริบอกเหตุผลของการเลือกทางเดินชีวิตในวัย 25 ปี 

ความจริงแล้ว ศรศิริมีบ้าน แต่เพราะมีปัญหาครอบครัว เขาจึงตัดสินไม่เดินทางต่อไปยังจังหวัดอุดรธานี ที่ห่างจากจังหวัดขอนแก่นเพียง 110 กิโลเมตร และทำความรู้จักเพื่อนใหม่ที่มีชะตากรรมไม่ต่างกัน  

“ผมไม่รู้จักโรคโควิดมาก่อน ได้ยินแต่ข่าว แต่ไม่รู้ว่าลักษณะอาการป่วยมันเป็นยังไง แต่ก็กลัวเหมือนกัน ก็ป้องกันด้วยการใส่หน้ากากที่มีคนนำมาแจก แต่บางทีก็ไม่ใส่ เพราะอึดอัด” ศรศิริเล่าประสบการณ์การดูแลตัวเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 

แม้จะเริ่มรู้จักผู้คนหลากหลายที่ต่างร่วมชะตากรรมเป็นคนไร้บ้านด้วยกัน แต่สำหรับศรศิริ เขาไม่รู้เลยว่า นโยบายการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คืออะไร แม้เขาจะต้องการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาทจากรัฐบาลมากเพียงใด แต่ข้อมูลพื้นฐานของเขาตอนนี้แทบไม่มี 

“ตอนนี้ผมไม่มีบัตรประชาชน ผมไม่รู้มันหายไปไหน และพี่น้องคนไร้บ้านแถวนี้ก็ไม่รู้จักนโยบายนี้เลย ตอนนี้พวกเราต้องการอยู่รอดด้วยการหางานให้ได้เท่านั้น” เขากล่าวด้วยความหวัง 

ศรศิริ วิปประเสริฐ และเพื่อนคนไร้บ้าน ที่อาศัยอยู่บริเวณศาลหลักเมือง จังหวัดขอนแก่น กำลังคุยกับกลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้านที่ร่วมลงพื้นที่ให้ข้อมูลเรื่องการดูแลตัวเองช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

“ปันกันอิ่ม” ทางออกสู้วิกฤตไร้อาหาร 

แม้เป็นคนไร้บ้าน แต่ก็ไม่ได้ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในช่วงโรคโควิด-19 ระบาดทั่วเมือง  พงษภัทร แสงพิทูร นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดขอนแก่น กล่าวระหว่างลงพื้นที่เยี่ยมเยียนคนไร้บ้านว่า  รัฐบาลมีนโยบายดูแลพี่น้องกลุ่มที่เปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มคนไร้บ้าน 

“เรามีโครงการ “ปัน กิน อิ่ม” ที่ร่วมกับภาคเอกชนนำอาหารที่มีคุณภาพดี ปรุงสุกใหม่ สะอาดปลอดภัย มาให้คนไร้บ้านและคนตกงานหลังโควิด-19 ระบาด ได้ทานทุกวันจันทร์ที่บริเวณโถงสถานีรถไฟจังหวัดขอนแก่น” พงษภัทรกล่าวและว่า นอกจากนี้เรายังรณรงค์ให้ข่าวสารเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้เขาได้รู้จักป้องกันตัวเอง

ในจังหวัดขอนแก่นมีสถานที่ที่รองรับกลุ่มคนเหล่านี้ 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย ส่วนอีกแห่งคือ บ้านโฮมแสนสุข ดูแลโดยองค์กรเอกชนที่สามารถรองรับคนไร้บ้านได้ประมาณ 100 คน  

แขก (สงวนชื่อกับนามสกุล) หญิงวัย 52 ปี หนึ่งในผู้พักพิงในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ซึ่งปกติศูนย์ฯ จะอนุญาตให้คนพักพิงที่นี่อยู่ได้ไม่เกิน 15 วัน แต่เธอป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม เธอได้รับการพิจารณาขยายเวลาให้อยู่ต่อเป็นกรณีพิเศษ 

“พี่ต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นเดือนละ 1-2 ครั้ง ก็จะเห็นว่า เจ้าหน้าที่ตรวจหาเชื้อโควิดเข้มข้นมาก มันเลยทำให้เราตื่นตัวไปด้วย” แขกเล่าประสบการณ์ส่วนตัว 

แขกกำลังดายหญ้าด้านหน้าศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ที่เธอพักรักษาตัวระหว่างป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมมากว่า 2 เดือน

ขณะนี้มีคนไร้บ้านที่มาพักพิงในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจำนวน 8 คน ชาญศักดิ์ คูคีรีเขต หัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคมสงเคราะห์ ประจำศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่นให้ข้อมูลว่า สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เราได้รณรงค์ให้ทุกคนสวม หน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างกันประมาณ 1-2 เมตร และหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวกัน 

“เรามีมาตรการทำความสะอาดอาคารสถานที่ทุกเช้า-เย็น และให้ผู้พักพิงใช้ถ้วยชามและช้อนส้อมส่วนตัว พร้อมกับแจกหน้ากากอนามัย และกำชับให้ทุกคนรักษาความสะอาด” ชาญศักดิ์อธิบายมาตรการดูแลศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งระหว่างการระบาดของโควิด-19 

อาคารภายในศูนย์คุ้มครองไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ที่สามารถรองรับผู้พักพิงได้ประมาณ 10-15 คน

หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่เริ่มรุนแรงตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีคนตกงานแล้วเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจของของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้อาจทำให้มีผู้ตกงานมากถึง 7 ล้านคน 

ข้อมูลจากศูนย์คุ้มครองไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่นระบุว่า ขณะนี้ จังหวัดขอนแก่นมีคนไร้บ้านจำนวน 83 คน แต่หลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีคนตกงานมากขึ้น ส่วนหนึ่งของคนกลุ่มนี้จึงกลายเป็นคนไร้บ้านกลุ่มใหม่ที่ยังไม่มีตัวเลขแน่นอน 

การตกงานทำให้เกิดกลุ่มคนไร้บ้านกลุ่มใหม่ เพราะขาดเงิน ไร้งาน โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ภายใต้โครงการ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” 

ด้วยการเปิดบ้านพักพร้อมบริการอาหารฟรี 3 มื้อ ให้ประชาชนที่ตกงานและไม่มีที่อยู่อาศัยเข้าพัก โดยเฉพาะช่วงหลังเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 4 ทุ่ม – ตี 4 ผู้ต้องการเข้าพักสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์ 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง 

image_pdfimage_print