หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง 

ในที่สุดซีรีส์ชุด “ลมหายใจหน้าฮ้านหมอลำ” ก็เดินทางมาถึงตอนที่ 19 ตอน “ลมหายใจหมอลำที่ไม่เคยขาดหาย” แม้จะเป็นตอนจบ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นบทสรุปของซีรีส์ชุดนี้ เพราะยังมีเรื่องราวของหมอลำ หมอแคน หมอพิณ เครื่องดนตรีอีสาน และผู้คนที่เกี่ยวข้องกับดนตรีหมอลำอีสานอีกมากที่ทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ดยังไม่ได้ไปเยี่ยมเยือนคารวะ รวมถึง “บันทึก Record” เรื่องราวของพวกเขาไว้

หากนับจากวันแรกที่เผยแพร่ซีรีส์ชุดนี้ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) เริ่มระบาดหนักในประเทศไทย กระทั่งนายกรัฐมนตรีต้องประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และต่อมาก็ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามคนออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 4 ทุ่มถึงตี 4 

จังหวะเวลานั้นถือเป็นช่วงเวลาแห่งความตึงเครียด เพราะไม่เคยเกิดโรคระบาดที่รุนแรงเช่นนี้มาก่อน 

ห้วงเวลานั้นจึงไม่ค่อยมีใครอยากเสพดนตรี เรียนรู้ศิลปะ หรือฟังลำเท่าใดนัก ผู้คนล้วนอยู่ในภาวะอกสั่นขวัญแขวน  

แต่ทว่าการเผยแพร่ซีรีส์ชุดลมหายใจหน้าฮ้านหมอลำทั้ง 18 ตอนที่ผ่านมา ทั้งบทสัมภาษณ์ วิดีโอสั้นและบทความ ต่างก็มีเสียงตอบรับค่อนข้างดี เห็นได้จากยอดวิว กดไลก์ กดแชร์ และแสดงความคิดเห็นบนเพจเฟซบุ๊กของเดอะอีสานเรคคอร์ด   

เสียงสะท้อนจากแฟนๆ 

“ดนตรีอีสานก็อยู่คู่กับคนอีสานที่สืบทอดมายาวนาน ถ้าจะหวังให้รัฐบาลไทยไปโปรโมทให้ อย่าไปคิดเลย เห็นที่เขาโปรโมทอยู่ก็มีดนตรีไทยเดิม ขิม ไวโอลิน ซออู้ ซอด้วง ซึ่งเป็นดนตรีที่สังคมคนชั้นสูงเขาเล่นกัน คนอีสานเรามีความสามารถผลิตเครื่องดนตรีหลายๆ ประเภท เช่น พิณ แคน โหวด และอื่นๆ อีกหลายชนิด ซึ่งมันไพเราะมาก และเรายังมีนักแต่งเพลงที่เป็นคนอีสานติดระดับประเทศหลายคน ที่สร้างสรรค์ผลงานเพลงดังๆ ในอดีต ซึ่งมีท่วงทำนองไพเราะ มีความเป็นธรรมชาติ เข้ากับบ้านนอก ทุ่งนา” 

“ปัจจุบันก็มีครูสลา คุณาวุฒิ ที่พยายามส่งเสริมให้เด็กๆ รุ่นใหม่ๆ มาร่วมโครงการไทบ้านเดอะคัพเวอร์ เพื่อทำให้ดนตรีอีสานมีสีสันใหม่ๆ ทันสมัย ฟังยังไงก็ไม่ตกยุค” นี่เป็นเสียงสะท้อนจากคุณ Wilailak Ritdet ที่แสดงความคิดเห็น หลังการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ “จอห์น การ์โซลี” นักดนตรีชาติพันธุ์วิทยา ในรูปแบบวิดีโอสั้นตอนที่ 16 “ปรมาจารย์แคนและอนาคตอันเลือนลางของหมอลำ” 

นอกจากนี้ยังมีเสียงตอบรับและการแสดงความคิดเห็นอีกมาก ที่ไม่ได้ยกมากล่าวถึง ณ ที่นี้ 

ทุกคอมเมนต์จากทุกช่องทางการสื่อสาร ถือเป็นเสียงสะท้อนอันงดงามที่บ่งชี้ว่า มีผู้คนติดตามดนตรี หมอลำ หมอแคน และหมอพิณ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนอีสานอยู่ 

จอห์น การ์โซลี นักวิชาการชาวออสเตรเลียและนักดนตรีชาติพันธุ์วิทยา ผู้ศึกษาและมีความเชี่ยวชาญในดนตรีอีสาน โดยเฉพาะแคน ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ

เสียงสะท้อนจากนักดนตรีชาติพันธุ์วิทยาชาวออสเตรเลีย  

ทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ดได้ขอให้ “จอห์น การ์โซลี” นักดนตรีชาติพันธุ์วิทยา ชาวออสเตรเลีย ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในตอน 15 หมอแคนและอนาคตของหมอลำดั้งเดิมที่กำลังจะหายไป”  ในฐานะผู้ศึกษาและมีความเชี่ยวชาญในดนตรีอีสานโดยเฉพาะแคน เขียนสะท้อนถึงการนำเสนอซีรีส์ชุดลมหายใจหน้าฮ้านหมอลำและนี่เป็นส่วนหนึ่งของเสียงสะท้อนจากเขา 

“การนำเสนอซีรีส์ชุดลมหายใจหน้าฮ้านหมอลำ เป็นการให้ข้อมูลเชิงลึกที่ครอบคลุมและมีคุณค่าต่อวงการหมอลำ โดยมีผู้คนมากหน้าหลายตามาร่วมแจมด้วย” จอห์นเขียนอธิบายสิ่งที่เขาอ่านบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ดในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ 

“นอกจากนี้ยังมีนักเขียนหลายคนที่อธิบายงานทางวัฒนธรรมที่หมอลำผูกสร้างขึ้นในสังคมวัฒนธรรมและการเมือง ซึ่งสิ่งนี้ได้สร้างรูปแบบประวัติศาสตร์ของการเปล่งเสียงที่แสดงถึงการคงอัตลักษณ์ความเป็นอีสานในปัจจุบันของหมอลำ เพื่อให้การแสดงหมอลำ รวมถึงนักแสดงมีพลัง มีศักดิ์ศรีของวัฒนธรรมอีสาน ขณะเดียวกันก็เป็นการท้าทายอำนาจเผด็จการโดยตรงด้วย”จอห์นอธิบายถึงสิ่งที่เห็น 

เขายังเขียนอธิบายอีกว่า ไม่ว่าคนเขียนจะตีความคำว่าหมอลำอย่างไร แต่การถ่ายทอดมุมมองของพวกเขาทำให้เห็นถึงความกระตือรือร้นและความรักที่มีต่อหมอลำในรูปแบบต่างๆ ในขณะเดียวกันยังเห็นความมุ่งมั่นที่อาจมีความสำคัญต่อความอยู่รอดของหมอลำ เห็นแล้วก็น่ายินดี

ทวิทย์ สิทธิ์ทองสี อดีตสมาชิกวงโปงลางสะออน หรือ ที่สมาชิกในวงเรียกเขาว่า “เน่า โปงลางสะออน” ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

เน่า โปงลางสะออน “วัยรุ่นก็ยังฟังลำ” 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทสัมภาษณ์ “ทวิทย์ สิทธิ์ทองสี” อดีตสมาชิกวงโปงลางสะออน หรือ “เน่า โปงลางสะออน” ทั้งแบบวิดีโอสั้นและบทสัมภาษณ์ฉบับยาวในตอนที่ 10 “เน่า โปงลางสะออน” รำลึกความหลังครั้งสร้างตำนานปฏิวัติวงการหมอลำ ก็มีเสียงตอบรับค่อนข้างหนาแน่น 

คงเป็นเพราะวงดนตรีโปงลางสะออนยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน แม้ห้วงเวลาของความโด่งดังของวงดนตรีลูกผสมระหว่างดนตรีพื้นบ้านอีสานกับเครื่องดนตรีสากลวงนี้จะเคยโด่งดังเมื่อ 15 ปีที่แล้ว 

“ผมเห็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของหมอลำในซีรีส์ชุดนี้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของกลอนลำ บทเพลง ที่แปรผันไปตามยุคสมัย ซึ่งสะท้อนสังคมวัฒนธรรมอีสาน” ทวิทย์สะท้อนภาพที่เขาเห็นจากการนำเสนอในซีรีส์

“ผมคิดว่าดนตรีหมอลำอีสานไปรอดแน่ๆ เพราะจากการไปอ่านคอมเมนต์ของกลุ่มวัยรุ่นในเพจเฟซบุ๊กอีสานเรคคอร์ด พวกเขาก็ยังฟังดนตรีอีสานอยู่ เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบ แม้บางคนอาจจะมองว่าคนที่ไม่อนุรักษ์แบบเก่าๆ จะทำให้รู้สึกว่า ผิดครู (ผิดวัตถุประสงค์ของผู้สอน) ก็ตาม” เน่า โปงลางสะออน ตอบคำถามที่ว่าเห็นอนาคตของหมอลำอีสานหรือไม่ 

อาทิตย์ มูลสาร หรือ ฝ้าย ผู้จัดการนิทรรศการรถบัสหมอลำเคลื่อนที่ (Molam Mobile Bus Project) ของหอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน (Jim Thompson Art Center) ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

เสียงสะท้อนจากหมอลำบัส “หน้าฮ้านหมอลำบรรยากาศที่ขาดหาย” 

อีกหนึ่งบทสัมภาษณ์ในซีรีย์ชุดนี้ที่ได้รับความสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตอนไหนๆ คือ ตอน (2) รถบัสหมอลำ : นิทรรศการหมอลำการเมืองอีสาน ที่สัมภาษณ์ อาทิตย์ มูลสาร ผู้จัดการนิทรรศการรถบัสหมอลำเคลื่อนที่ (Molam Mobile Bus Project) ของหอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน (Jim Thompson Art Center) ผู้ทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ “หมอลำกับการเมือง การสร้างความเป็นชาติของไทย” 

วิทยานิพนธ์ของเขาทำให้รู้ว่า “หมอลำ” ถือเป็นแนวรบวัฒนธรรมในอดีตถึงขั้นในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ได้ออกประกาศห้ามคนในภาคอีสาน “เล่นแอ่วลาว ห้ามเล่นหมอลำ ห้ามเล่นเป่าแคน” เพราะจะทำให้คนกระด้างกระเดื่อง 

อาทิตย์สะท้อนสิ่งที่เดอะอีสานเรคคอร์ดนำเสนอในซีรีส์ชุดนี้ว่า เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่สื่อให้ความสำคัญกับหมอลำอย่างจริงจัง ด้วยเนื้อหามุมมองที่น่าสนใจ นำเสนอหมอลำในหลากหลายมิติ

เขามองว่า สิ่งที่ทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ดยังไปไม่ถึงหรือสิ่งขาดหายในซีรีส์ชุดนี้ มี 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก หมอลำถือว่าเป็นอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมที่ใหญ่และมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก การจะทำความเข้าใจหมอลำ ควรให้ความสำคัญกับมิติทางเศรษฐศาสตร์ไม่แพ้มิติอื่นๆ ของหมอลำ 

ประการถัดมา ว่าด้วยนิเวศวิทยาทางวัฒนธรรมของหมอลำ หมายถึงห่วงโซ่การดำรงอยู่ของหมอลำ ซึ่งเขาสะท้อนว่า ทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ดยังขาดหายบรรยากาศและการพูดคุยกับผู้ชมหน้าฮ้านเวทีที่เป็นมิตรรักหมอแคนแฟนหมอลำ  

“หมอลำมีความเป็นสากลมากขึ้น จนหลุดพ้นจากความเป็นศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน ซึ่งความเป็นสากลนี้ต้องเริ่มต้นจากการบริโภควัฒนธรรมหมอลำภายในอีสานและภายในประเทศ รวมถึงการพัฒนาดนตรีและทำนองเพลงหมอลำให้ผสมผสานกับดนตรีแนวอื่นๆ มากขึ้น” ผู้จัดการนิทรรศการรถบัสหมอลำเคลื่อนที่กล่าวถึงความคาดหวังต่อวงการหมอลำ

หมอลำแบงค์ ปฏิภาณ ลือชา หรือ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หมอลำอีสานรุ่นใหม่ ร่ายกลอนลำระหว่างการชุมนุมทางการเมืองที่ จ.ขอนแก่น ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ

หมอลำแบงค์กับ “บันทึกอีสาน” 

ผลงานกลอนลำตอนที่ 12 “ลำเดินไล่เผด็จการ” ที่เป็นบันทึกการแสดงสดจากกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษาและประชาชน ในการชุมนุม “ขอนแก่นพอกันทีครั้งที่ 2” และตอนที่ 7 “ชีวิตจริงยิ่งกว่าหมอลำ” ซึ่งเป็นการถ่ายทอดชีวิตของหมอลำแบงค์ ปฏิภาณ ลือชา หรือชื่อจริง ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้ศิลปินคนอื่นๆ ด้วยเพราะกลอนลำของเขาเป็นแนวเสียดสีสังคมและท่วงทันกับยุคสมัย จึงทำให้คนรุ่นใหม่สัมผัสกลอนลำของเขาได้ง่าย 

“ข่อยเห็นผลงานของเดอะอีสานเรคคอร์ดเป็นบันทึกประวัติศาสตร์อีสาน ประวัติศาสตร์หมอลำ หมอแคน การหาอยู่หากินของไทบ้านเฮา ไทเจ้าบ่ได้เฮ็ดเล่นๆ แต่มีความน่าเชื่อถือ มีความเป็นวิชาการ แล้วชาวบ้านก็เข้าถึงง่าย ข่อยบ่ได้ย้อง แต่นี่คือการบันทึก การเรคคอร์ดสังคมลาวอีสานบ้านเฮาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เบิ่ง” หมอลำแบงค์สะท้อนเสียงออกมากึ่งกลอนลำ 

เขายังบอกอีกว่า ซีรีส์ชุดลมหายใจหน้าฮ้านหมอลำได้ย้อนอดีตและทำนายอนาคตของหมอลำไว้ให้ผู้คนได้รู้ว่า อีก 20 ปี ภาพของศิลปินและดนตรีอีสานจะเป็นอย่างไร พร้อมกับการอธิบาย “ชีวิต” ของผู้คนที่สัมพันธ์กับหมอลำอีสาน ซึ่งถือเป็นจิตวิญญาณที่เดินคู่กับดนตรีพื้นบ้านที่เรียกว่า “หมอลำ” 

“นี่คือการบันทึกประวัติศาสตร์อีสานอีหลี เป็นอีสานเรคคอร์ดอีหลี” หมอลำแบงค์ทิ้งท้ายด้วยถ้อยคำที่เขาบอกว่า “ออกมาจากใจ” 

image_pdfimage_print