สมานฉันท์ พุทธจักร เรื่อง 

“งานวิจัยบ่แม่นแค่คนผูกไทด์ ใส่เกิบโบก ท่อนั้น เฮาก็เฮ็ดได้คือกัน” บุญมี โสถัง ชาวตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนราษีไศล กล่าวพร้อมยกกองหนังสือปกสีเหลืองเกือบ 10 เล่ม ลงมาจากชั้นบนของบ้าน 

ทั้งหมดเป็นงานวิจัยที่ทำ โดย “บุญมี โสถัง” 

บุญมี โสถัง นักวิจัยไทบ้าน จ.สุรินทร์ ใช้บ้านพักเป็นศูนย์วิจัยไทบ้าน เครดิตภาพ ลุก ดักเกิลบีย์

ดัดแปลงบ้านเป็นสำนักงานวิจัย 

“เราทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาตัวเอง ไม่ได้ทำแล้ว เอาไปขึ้นหิ้ง” เป็นจุดประสงค์การทำวิจัยของเขาและไทบ้านคนอื่นๆ ที่เป็นไปเพื่อต่อสู้เรียกร้องกับภาครัฐ หลังจากเขื่อนราษีไศลสร้างเสร็จ และเริ่มกักเก็บน้ำทำให้พื้นที่ ป่าบุ่ง ป่าทาม หลายหมื่นไร่ ที่เป็นแหล่งพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่ทำกินร่วมกันของไทบ้านมาตั้งแต่บรรพชนต้องจมอยู่ใต้น้ำ การลุกขึ้นทำงานวิจัยของไทบ้านที่ต่างได้รับผลกระทบ เพื่ออธิบายความสำคัญของสิ่งที่ต่าง ๆที่พวกเขาต้องสูญเสียไปจากการพัฒนาของรัฐ

เป็นเหมือนการสถาปนาชุดความรู้ท้องถิ่น ที่ไม่ได้มาจากสถาบันการศึกษาในเมืองใหญ่ แต่มาจากสามัญชนตามท้องทุ่ง ป่าทาม เพื่องัดคานกับชุดความคิด และวาทกรรมการพัฒนาที่ถูกสถาปนาขึ้นโดยรัฐส่วนกลาง

“วิจัยไทบ้าน” เครื่องมือการต่อสู้ของคนธรรมดา

“วิจัยไทบ้านเป็นกระบวนการวิจัยที่ให้ชาวบ้านเป็นคนเก็บข้อมูลและนำเสนอข้อมูลโดยชาวบ้าน ที่ผ่านมารู้สึกว่า งานวิจัยคือ งานที่ชาวบ้านเข้าไม่ถึง ต้องทำโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย” ปราณี มรรคนันท์ เจ้าหน้าที่โครงการทามมูล หนึ่งในคนที่ทำงานเรื่องผลกระทบของเขื่อนราษีไศลมาอย่างยาวนาน ให้นิยามคำว่า “วิจัยไทบ้าน” ในมุมมองของตัวเอง  ที่เป็นสร้างองค์ความรู้โดยใช้ไทบ้านเป็นสูญกลางในทุกกระบวนการ

เธอบอกอีกว่า งานวิจัยไทบ้านถูกใช้เป็นเครื่องมือการต่อสู้ของภาคประชาชนในไทยมาตลอด โดยกลุ่มการเคลื่อนไหวอย่าง “สมัชชาคนจน” ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการสร้างเขื่่อนปากมูล ซึ่งเป็นพื้นที่แรกๆ ที่เริ่มทำวิจัยไทบ้านเพื่อนำสิ่งที่วิจัยสกัดออกมาเป็นข้อเรียกร้อง ทำให้ภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นปัญหาต่างๆ เริ่มนำวิธีการวิจัยรูปแบบเดียวกันไปใช้ในการต่อสู้ของตัวเอง

บรรยากาศการรวบรวมข้อมูลเพื่อทำวิจัยไทบ้านในอดีต ของไทบ้านรอบๆ เขื่อนราษีไศล เครดิตภาพ : สมาคมคนทาม

การเคลื่อนไหวของราศีไศลเริ่มทำวิจัยไทบ้านเมื่อปี 2543 เกิดจากความช่วยเหลือของหลายองค์กร อย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. เป็นต้น 

“จริงๆ ความรู้อยู่กับชาวบ้านอยู่แล้ว แค่จัดกระบวนการเรียนรู้ให้ ตั้งแต่การตั้งคำถาม การลงไปสัมภาษณ์เราจะตั้งคำถามหลัก คำถามย่อยยังไง” ปราณี เล่าการเริ่มต้นทำงานวิจัยไทบ้าน โดยเน้นให้ชาวบ้านเป็นผู้ทำวิจัยเอง ส่วนหน่วยงานภายนอกทำหน้าที่เป็นเหมือนพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ ตั้งแต่ชวนตั้งคำถามออกมาเป็นหัวข้อวิจัย ฝึกการเขียน สอนวิธีในการเก็บข้อมูลวิจัย ไปจนถึงการสรุปออกมาเป็นวิจัย โดยงานแต่ละชิ้น สกว. เป็นผู้รับรองคุณภาพ

หนึ่งในทีมงานวิจัยทามมูล กล่าวอีกว่า เนื่องจากฐานความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน และไทบ้านเองอยู่แล้ว ทีมงานเพียงแค่นำมาจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้มีงานวิจัยเกิดขึ้นจากไทบ้านในชุมชนรอบๆ เขื่อนรวมแล้วหลายสิบชิ้น ส่วนใหญ่อธิบายถึงประโยชน์จากระบบนิเวศน์ในพื้นที่ อาทิ อธิบายจำนวนชนิดปลาที่หายไปจากการสร้างเขื่อน ไปจนถึงการชี้ให้เห็นประโยชน์ของป่าทามที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากินเป็นอย่างไร

“นอกจากการรณรงค์เรียกร้องที่มีการเคลื่อนไหวกันมาตลอดแล้ว การทำวิจัยไทบ้านจึงเป็นเหมือนการต่อสู้ในอีกรูปแบบหนึ่ง”เธอบอก และว่า “การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้มาตลอด มีการนำไปอ้างอิงในการเรียกร้องว่าความเสียหายจากการสร้างเขื่อน คือ อะไร อย่างเรื่องปลาว่า มันลดลงเท่าไหร่ เขื่อนส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างไร” 

นอกจากนี้เธอยังเห็นว่า การทำวิจัยถือเป็นเต่อสู้กับวาทกรรมการพัฒนาของรัฐ และชุดความรู้ที่เกิดจากการขาดความเข้าใจของทางการที่มองพื้นราบริมแม่น้ำที่ไทบ้านเรียกว่า “ป่าทาม” ว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมไร้ประโยชน์ 

“ทางการจะมองว่า มันคือป่าละเมาะ ไม่มีประโยชน์ แต่เราบอกว่า มันมีประโยชน์ฉะนั้นชาวบ้านต้องไปค้นหามาตอบรัฐว่าทามมีประโยชน์ยังไง การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทามเป็นยังไง ชาวบ้านอธิบายว่า ใช้เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย หาผัก มีมากกว่า 25 กิจกรรม ที่ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์กับป่าทาม ไม่ได้เป็นป่าละเมาะเสื่อมโทรมอย่างที่รัฐบอก”เธอชี้ผลวิจัยที่ได้รับจากการเก็บข้อมูล

 เมื่อจับวัวควายมาทำวิจัย

“ผมเกิดทันตอนพ่อต้อนวัวควายไปขายเมืองล่าง ผมต้องอยู่เฝ้าวัว เลี้ยงควายที่บ้าน” บุญมี ย้อนอดีตความทรงจำวัยเด็กที่ที่พ่อของเขาเป็นนายฮ้อย หรือพ่อค้าวัวควาย เนื่องจากพื้นที่รัตนบุรี จ.สุรินทร์ เป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับทุ่งกุลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเสียงเรื่องนายฮ้อยกวาดต้อนวัว ควาย ล่องใต้ลงไปขายตามเมืองต่างๆ ไปจนถึงภาคกลาง

บุญมีเดินทางไปบรรยายตามชุมชนต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลสำหรับการทำวิจัยไทบ้าน  ภาพเมื่อ 2550 เครดิต สมาคมคนทาม 

บุญมีได้เข้ามาร่วมต่อสู้กับกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศล ได้เริ่มรู้จักกับการทำวิจัยไทบ้าน และเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งวิถีที่ใช้ในการต่อสู้ของภาคประชาชน 

เขาเห็นว่า หลายครั้งที่ภาคประชาชนชุมนุมเรียกร้องกับผู้มีอำนาจ แต่พวกเขาไม่รับฟัง การสร้างความรู้ในท้องถิ่นจึงมีส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหว เพื่อนำข้อมูลไปถกเถียงกับภาครัฐ โดยมีตัวอย่างจากภาคประชาชนในพื้นที่เขื่อนปากมูล ที่เข้มแข็งในการสร้างองค์ความรู้ของตัวเอง 

“เพื่อนที่ปากมูลทำวิจัยเรื่องปลาที่อยู่ในน้ำ ทำไมมันยังทำได้ เราก็ต้องทำได้ เราเลยเลือกควายมาเป็นตัวเดินในเรื่องในงานวิจัย” บุญมีอธิบายถึงแนวคิดของการทำวิจัยไทยบ้าน

“ควายทาม” เป็นคำที่ใช้เรียกควายที่เฉพาะเจาะจงว่า เป็นควายที่ถูกเลี้ยงอยู่ในพื้นที่ทาม มีลักษณะเฉพาะโดยมีลำตัวใหญ่ ดุร้ายต่อคนที่ไม่ใช่เจ้าของ เพราะมักถูกปล่อยให้อยู่หากินในป่าทามอย่างอิสระ คนในตำบลดอนแรดที่อาศัยประโยชน์จากทามหลายอย่าง รวมถึงเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของวัวควาย การเลี้ยงวัวควายในพื้นที่จึงรูปแบบการเลี้ยงที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ “รูปแบบการเลี้ยงโคกระบือ จึงเป็นพื้นที่เหมาะสมกับพื้นที่ทาม ตำบลดีอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์”บุญมีเน้นย้ำจากงานวิจัย  

บุญมีเริ่มทำวิจัยเมื่อปี2547 ด้วยการรวบรวมผู้คนที่มีวิธีคิดแบบเดียวภาย ในชุมชนรวม 8 คนมาเป็นทีมวิจัย ตระเวนเก็บข้อมูลตามพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งสอบถามจากผู้เฒ่า ผู้แก่ เพื่อศึกษาถึงดีต รวมทั้งสอบถามจากคนรุ่นใหม่เพื่อเข้าใจปัจจุบัน ทำให้งานวิจัยของเขาแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนมีเขื่อน ช่วงหลังมีเขื่อนคือหลังปี 2536 และช่วงการเปิดเขื่อนที่เริ่มนับตั้งปี 2543 จนถึงปัจจุบัน เพื่อศึกษาวิถีการเลี้ยงวัวควายที่เปลี่ยนแปลงไป

 “ข้าวเต็มเล้า ปลาแดกเต็มไห งัวควายเต็มคอก”บุญมีใช้สำนวนนี้เพื่ออธิบายช่วงแรกก่อนที่จะมีเขื่อนที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ทำให้ไทบ้านนิยมเลี้ยงวัว ควายกันมากและเป็นช่วงที่พบข้อมูลว่า มีการเลี้ยงวัว เลี้ยงควายมากที่สุด ส่วนใหญ่ใช้ป่าทามเป็นแหล่งอาหารสำคัญ โดยไทบ้านใช้วิธีต้อนควายลงไปปล่อยไว้ในป่าทามเพื่อให้หากินตามธรรมชาติเป็นเวลานานๆ

“งัวควาย 3 ตัวร้อยนายฮ้อย 5 นาที”เป็นสำนวนที่บุญมีใช้อธิบายปรากฏการณ์หลังจากเขื่อนราษีไศล เริ่มกักเก็บน้ำตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นไป ทำให้น้ำท่วมพื้นที่ป่าทามเป็นวงกว้าง 

เมื่อไม่มีป่าทามก็ไม่สามารถเลี้ยงควายได้ ชาวบ้านจึงจำต้องขายควายในราคาที่ต่ำ คำว่านายร้อย 5 นาที หมายถึงวิถีการซื้อขายวัวควายที่เปลี่ยนไป โดยใช้เพียงแค่ยกหูโทรศัพท์เรียกให้รถบรรทุกมาขนควายออกไป เป็นช่วงที่วิถีเลี้ยงควายในทามเริ่มจางหายไปจากวิถีไทบ้านและจำนวนวัวควายของชาวบ้านก็ลดน้อยลงภายในพริบตา

“เป็นยุควัวขึ้นภู หมูเข้าถ้ำ บักหำดำสิมีค่า”เขาเปรียบเปรยถึงยุคหลังปี 2543 จนถึงปัจจุบันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปิดเขื่อนราษีไศล น้ำที่เคยท่วมจึงเริ่มลด ป่าทามเริ่มมีชีวิตชีวาขึ้น วัวควายเริ่มถูกนำกับมาเลี้ยงอีกครั้ง แต่เป็นการเลี้ยงอยู่ในพื้นที่สูงเป็นหลัก ไม่ได้ปล่อยให้วัว ควาย ลงมาอยู่ในทามแบบดั้งเดิม ส่วนบักหำดำ หมายถึงควาย เพราะปัจจุบันควายมีราคาสูง แต่ไทบ้านที่ยังคงเลี้ยงอยู่มีอยู่น้อย เพราะสูญเสียขายแม่พันธ์ุไปเกือบหมด

งานวิจัยไทบ้านของบุญมี เป็นการอธิบายความสัมพันธ์ของ คน ทาม ควาย ที่ล้วนดำรง และเปลี่ยนแปลงอย่างสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน งานวิจัยไทบ้านชิ้นนี้ได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นของ สกว. นำมาสู่งานวิจัยชิ้นอื่นๆ ของเขาที่ผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องรวมกว่า 10 ชิ้น

เรียนรู้ ‘ป่ารอยต่อ’ เพื่อต่อรองแนวทางจัดการน้ำ

“การทำวิจัยเชื่อมคนเข้าหากัน มันทำคนได้พูด ได้คุยกัน การทำวิจัยจะสลายการความขัดแย้ง เพราะทุกส่วนต้องมาร่วมมือกัน” ไพฑูรย์ โถทอง นักวิจัยไทบ้านชาวตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จ.ศรีสะเกษ กล่าวถึงอีกด้านหนึ่งของการทำวิจัย ที่ทำให้ลดความขัดแย้งของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งมีมาตลอดการเคลื่อนไหว เพราะกระบวนการทำวิจัยต้องใช้ความร่วมมือระหว่างคนแต่ละกลุ่ม ที่มีเป้าหมายและวิธีการในการเคลื่อนไหวเรียกร้องที่แตกต่างกัน ให้หันหน้าเข้าหากัน

ป่าดงภูดินดงแดง อยู่ในพื้นที่ตำบลหนองแค เนื้อที่กว่า 5,100 ไร่ ที่ ไพฑูรย์ โถทอง นักวิจัยชาวศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ทำวิจัย เครดิตภาพ ลุก ดักเกิลบีย์

เรื่องราวมากมายของการทำวิจัยถูกเล่าย้อนโดย ไพฑูรย์ ระหว่างเส้นทางของป่ารกชัฏลึกเข้าไปพื้นที่ป่าดงภูดินดงแดง ขณะกำลังพาเราเดินสำรวจย้อนรอยการวิจัยไทบ้านของเขา ที่ทำไว้เมื่อปี 2545 ในหัวข้อ “ศึกษาชนิดพันธ์พืชและการฟื้นตัวนิเวศน์ป่าทามและป่ารอยต่อ ในเขตป่าชุมชน ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ” โดยมุ่งศึกษาไปยัป่ารอยต่อ คือ ป่าที่อยู่ช่วงรอยต่อป่าทามที่เป็นพื้นที่ลุ่มชุ่มน้ำและป่าโคกในพื้นที่ดอน ซึ่งอยู่สูงข

เขากล่าวอีกว่า ป่ารอยต่อเป็นพื้นที่สำคัญ มีพืชหลากหลายสายพันธุ์ที่สุดเพราะสามารถรองรับทั้งพืชน้ำและพืชดิน นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์จำนวนมาก

“ผมโตมากับป่าอยู่แล้ว แต่เราต้องจัดระบบความรู้ใหม่” ไพฑูรย์กล่าว 

แม้ว่าเขาจะเติบโตมากับผืนป่าตั้งแต่ยังเยาว์วัย เหมือนกับคนอื่นๆ ในชุมขน แต่เมื่อทำวิจัยเขาต้องเข้าไปลุยตระเวนเก็บข้อมูล พืชพันธุ์ สรรพสัตว์ รวมถึงการต้องขุดดินลงไปเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของชั้นดินหลังจากมีการกักเก็บน้ำ โดยมีแหล่งข้อมูลสำคัญที่ 

ไพฑูรย์ ใช้ผู้สูงอายุหรือปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์คอยเป็นสารานุกรมหรือองค์ความรู้ให้ 

“ตัวความรู้สำคัญ คือ ผู้เฒ่า ผู้แก่ ปราชญ์ชาวบ้านที่มีส่วนสำคัญที่บอกได้ว่าอะไรเป็นสมุนไพร กินยังไง กินราก กินต้นหรือกินใบ” ไพฑูรย์ อธิบายแกนหลักของการทำวิจัย

นอกจากนั้นจุดเด่นของกระบวนการวิจัยคือ การเปิดเวทีสาธารณะเพื่อนำข้อมูลที่เก็บได้เปิดให้คนในชุมชนช่วยกันแก้ไข ตรวจสอบ ถกเถียงถึงความถูกต้อง ซึ่งในมุมของผู้ใหญ่บ้านอย่างเขามองว่า เป็นกระบวนการที่ทำให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม ลดความขัดแย้ง และได้เห็นถึงความสำคัญของป่าชุมชนของตัวเอง

“เพื่อที่จะบอกว่า ถ้าเขากักเก็บน้ำระดับนี้พันธุ์พืชชนิดไหนที่จะหายไปบ้าง” ไพฑูรย์ กล่าวและว่า “ตอนนี้การกักเก็บน้ำก็จะมีการประชุมว่า จะกักเก็บน้ำไว้ในระดับไหน นานแค่ไหน” 

งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีส่วนในการอธิบายความสูญเสียจากที่เกิดจากกักเก็บน้ำของเขื่อนและเป็นหลักฐานที่ทำให้ภาครัฐยอมเปิดให้ไทบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารการเปิด – ปิดประตูเขื่อนเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น 

การเมืองเรื่องความรู้

“ทางการบอกว่า คุณไม่ได้จบประมง คุณมาพูดเรื่องปลาได้อย่างไร คุณไม่ได้จบวิศวะจะพูดเรื่องเขื่อนได้อย่างไร อันนี้ คือ การกดทับความรู้ของชาวบ้าน” ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นผู้ติดอาวุธทางความคิดให้กับไทบ้าน ด้วยการนำวิธีการวิจัยไทบ้านเข้าไปในชุมชนตั้งแต่ชาวปากมูลเริ่มได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน 

โดยเขาเห็นว่า ภาครัฐใช้ความรู้แบบทางการ ด้วยการสร้างวาทกรรมในการพัฒนาและกดทับความรู้ท้องถิ่นที่อยู่ในชุมชนออกไป การทำวิจัยไทบ้านจึงเป็นเหมือนการทำให้ความรู้ในท้องถิ่นถูกกลับมาให้ความสำคัญ 

“มันก็คือการเมืองเรื่องความรู้ในการพัฒนาการทำวิจัยลักษณะนี้จึงถูกหยิบยกมาใช้สู้กับผู้มีอำนาจในสนามการต่อสู้ทางความคิด”ผศ.ดร.ไชยณรงค์ กล่าว 

เขายังกล่าวอีกว่า ภาครัฐใช้ชุดความรู้แบบทางการที่ใช้นักวิชาการ สถาบันทางการศึกษามาสนับสนุนโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ เป็นการกดทับชุดความรู้อื่นๆ ที่อยู่ในท้องถิ่นและชุมชน การทำวิจัยไทบ้านจึงเป็นการคัดง้างอำนาจวาทกรรมการพัฒนาของภาครัฐและยังเป็นการนำชุดความรู้ของชุมชนให้กลับมามีความสำคัญ 

การทำวิจัยของไทบ้านชาวราษีไศล ยังสร้างความเข้าในกับสังคมในวงกว้าง ทั้งเกี่ยวกับนิเวศน์ของป่าทาม ที่เป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจกันภายในชุมชน 

“เราไปเอาความรู้เรื่องนิเวศน์มาจากตะวันตก เราเห็นแต่นิเวศน์ใหญ่ๆ ของป่าเขตร้อน ป่าฝน แต่เราไม่เห็นอะไรที่ลึกลงไปในพื้นที่ของเราอย่างหรือป่าทาม” ผศ.ดร.ไชยณรงค์ กล่าวถึงการทำวิจัยไทบ้านที่ทำให้สถาบันทางการศึกษาเริ่มบรรจุป่าทามเข้าไปในชุดความรู้และเป็นความรู้ท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในการทำความเข้าใจ

อ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

โขงเลยชีมูล – เอาเขื่อนราษีไศลออกไป เอาธรรมชาติคืนมา (7)

โขงเลยชีมูล – หลากชีวิตเปลี่ยนไป เมื่อ “เขื่อนราษีไศล” บดบังวิถีคนน้ำมูล (6)

image_pdfimage_print