ดลวรรฒ สุนสุข เรื่อง

“ครบรอบ7 ปี รัฐประหารภายใต้คำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ความโหดร้ายของคำสั่งนี้ทำให้ชาวบ้านตาดำๆ ต้องไปอยู่ในเรือนจำจังหวัดชัยภูมิ ทำให้พวกเราต้องสู้เรื่องที่ดินทำกิน ทำให้มีคนถูกดำเนินคดีและต้องติดคุก ขอประณามรัฐบาลที่มีคำสั่งนี้มาว่า คือ  #อาชญากรฆ่าคนจนทั้งเป็นทำให้คนจนติดคุกเพียงแค่ไม่มีที่ดินทำกิน”  

นิตยา ม่วงกลาง หรือ กบ ชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ อดีตผู้ต้องขังคดีความผิดฐานรุกที่ดินเขตป่าและเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง โพสบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นวันครบรอบการรัฐประหารของ 7 ปี ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในตอนนั้น เป็นหัวหน้าคณะ นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ผลพวงรัฐประหาร 2557 ยังตามซ้ำร้ายชาวบ้านซับหวาย

แม้จะผ่านมาแล้วกว่า 7 ปี แต่ชาวบ้านซับหวาย ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนฝืนป่า จากคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ผลพวงจากรัฐประหารในครั้งนั้น ทำให้ในวันนี้มีผู้ติดคุก 3  คน เกิดขึ้นหลังศาลฎีกาจังหวัดชัยภูมิ สั่งจำคุกไม่รอลงอาญา ปัทมา โกเม็ด เป็นเวลา 8 เดือน ส่วนสมพิตร แท่นทอง ถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา  10 เดือน 20 วัน และ สากล ประกิจ เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน การตัดสินเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา รวมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการบุกรุกพื้นที่ป่า

นิตยา ม่วงกลาง หรือ กบ ชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อถึงวันครบรอบ 7 ปี รัฐประหาร 2557 ที่มาพร้อมนโยบายทวงคืนผืนป่า

แม้ว่าตามคำสั่ง 66/2557 จะระบุว่า ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการใดๆ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้

“ผลตามคำสั่ง 66/2557 ไม่เคยใช้ได้ในการต่อสู้ทางกฎหมาย ใช้แต่คำสั่งที่ 64/2557 เราก็เขียนคำร้องคำฎีกาไปหลายรอบแล้ว แต่เขา(รัฐ)ก็ไม่เคยฟัง” นิตยา กล่าว

สำหรับ นิตยา เธอถูกดำเนินคดีจากกรมอุทยานฯ 2 คดี ทำให้ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ 77 วัน ส่วนคนในครอบครัว แม่และน้องสาวต่างก็ถูกดำเนินคดีด้วยเช่นกัน โดยชาวบ้านซับหวายถูกดำเนินคดีทั้งหมด 19 คดี จำเลย 14 คน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 เดือน จนถึง 3 ปี ในจำนวนนี้ถูกเข้าเรือนจำแล้ว 13 ราย เนื่องจากศาลไม่รอลงอาญาและไม่มีเงินประกันตัว

“สิ่งที่เลวร้ายของการรัฐประหาร มันพรากชีวิตความเป็นอยู่เราไป เมื่อปี 2534 รัฐประหาร รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ก็ประกาศให้เป็นพื้นที่เขตอุทยานไทรทองทับที่ดินของพวกเรา ไล่พวกเราหนีมาอยู่ที่นี้ พอมารัฐประหาร 2557 มันก็จะไล่ที่เราอีก จับเราเข้าคุก เข้าตารางด้วย”

นิตยา เล่าถึงความคับแค้นใจของเธอเมื่อถึงวันครบรอบ 7 ปี การรำลึกของรัฐประหาร 2557

คำสั่งรัฐประหาร = อำนาจนิยมที่ไม่เคยเป็นธรรมกับคนจน

การรัฐประหาร 2557 รัฐบาลทหาร ได้มีคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66/2557 เรื่องการปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ พร้อมกับประกาศใช้แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน หรือ นโยบายทวงคืนฝืนป่า

จากรายงานผลการศึกษามาตรการทวงคืนผืนป่าของกลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน หรือ Land Watch ในปี 2562 ระบุว่า ชาวบ้านผู้ยากไร้ที่อาศัยในเขตป่าต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบอย่างน้อยสามลักษณะภายใต้มาตรการทวงคืนผืนป่า ได้แก่

1.การข่มขู่คุกคาม ไล่รื้อ และดำเนินคดีกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า ที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 226 ครั้ง เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และป่าไม้ พร้อมอาวุธ กว่า 50 ราย ควบคุมตัวแกนนำชาวบ้านกว่า 11 คน ออกจากพื้นที่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่กรณีปัญหาพิพาทเรื่องที่ดินป่าไม้มายาวนาน

2.การไล่รื้อ ตัดฟันทำลายพืชผลอาสินของชาวบ้านในพื้นที่ โดยใช้คำสั่งทางปกครองเกิดขึ้นอย่างน้อย 287 ครั้ง เช่น เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง เข้าตัดฟันไร่ข้าวและข้าวโพดของชาวบ้านห้วยหก อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เป็นต้น

3.การจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้านในพื้นที่ป่า ที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 168 ครั้ง มีคดีเกิดขึ้นอย่างน้อย 1,003 คดี เช่น กรณีชาวบ้านทุ่งป่าคา อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน กรณีบ้านจัดระเบียบ อ.ภูพาน จ.สกลนคร

ศรายุทธ ฤทธิพิณ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กล่าวว่า แม้การยึดอำนาจของคณะรัฐประหารจะอ้างว่า เข้ามารักษาความสงบ แต่หลังจากยึดอำนาจเพียงไม่กี่วัน คือ ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2557 ชาวบ้านทั้ง 6 ชุมชน ที่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารสนนธิกำลังเข้ามาหลายร้อยนาย พร้อมอาวุธ ทำการคุกคาม ข่มขู่ และรื้อถอน ทำลายสิ่งปลูกสร้าง และอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ ส่งผลให้ชุมชนที่เคยอยู่ในพื้นที่ต้องล่มสลาย กว่า 40 ครอบครัว ประมาณ 160 คน ถูกผลักไสให้ออกจากพื้นที่ ความทุกข์ยากแค้น ความเดือดร้อนที่ถูกกระทำ จนทำให้ชุมชนล่มสลาย หมดสิ้น

“หลายกรณีทหารเข้ามาตัดตอนกระบวนการของชาวบ้านที่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับเขตป่าอุทยานฯพอรัฐประหารก็นำกำลังมาขู่เข็ญชาวบ้านออกนอกพื้นที่ ให้เซ็ตน์เอกสารยอมรับ การทวงคืนผืนป่า เป็นอีกรูปการณ์หนึ่งที่สร้างผลกระทบต่อคนจน คนด้อยโอกาสทางสังคม ตกอยู่ในชะตากรรมที่แร้นแค้น ”ศรายุทธ กล่าว

เจ้าหน้าที่ปิดประกาศ คำสั่งที่ 66/2557 ให้ชาวบ้านซับหวาย ออกจากพื้นที่ และแจ้งข้อกล่าวหาบุกรุกป่า เครดิตภาพ : สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

เมื่อคำสั่งรัฐประหารเป็นกฎหมาย ไม่มีพื้นที่สำหรับผู้ยากไร้ 

“เจตนาของคำสั่งทวงคืนผืนป่า เพื่อปราบปรามการบุกรุก ให้นายทุนถอยออกจากพื้นที่ป่า แต่การปฏิบัติ มีแต่ทำร้ายคนจน กระทำกับชาวบ้านอย่างเดียว ทั้งที่พวกเขาก็อยู่มาในพื้นที่ก่อน” 

สมนึก ตุ้มสุภาพ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนผู้ที่ดูแลคดี กล่าวเมื่อถูกถามถึงคดีชาวบ้านซับหวาย 

ทนายความกล่าวต่อว่า แนวทางที่เราต่อสู้ทางกฎหมาย คือ คำสั่ง 66/2257 ที่ละเว้นให้คนจนผู้ยากไร้ และคนที่อยู่ในพื้นที่มาก่อน ซึ่งชาวบ้านเราอยู่มาก่อนแน่ๆ คำสั่งนี้ก็ควรจะคุ้มครองชาวบ้านเรา คำสั่งนี้ในการฟ้องร้องควรจะใช้ไม่ได้กับชาวบ้านเรา เพราะมันมีเงื่อนไขยกเว้นตรงนี้ไว้ แต่เวลาที่รัฐมาฟ้องเรา ไปอธิบายในศาล เขาก็บอกว่า ทำตามคำสั่ง 64/2557 โดยอ้างว่าชาวบ้านเซ็นยินยอมคืนที่ดินให้รัฐ 

“แต่ในตอนนั้นคิดภาพดูว่า อยู่ๆ ก็มีคำสั่ง คสช. พร้อมกับการสนธิกำลัง ทหาร หน่วยงานต่างๆ เข้าไปในพื้นที่แล้วก็บอกให้ชาวบ้านเซ็นคืนที่ดินให้รัฐ ในตอนนั้นชาวบ้านเขาจะทำอย่างไรได้ เขาไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะโต้แย้งได้”สมนึก กล่าวถึงคำสั่ง คสช. 

ทนายความกล่าวถึงคดีนี้ว่า ชาวบ้านต้องได้รับโทษและเสียค่าปรับจำนวนมาก บางคนหลายแสนบาท ชาวบ้านจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าปรับ ดีที่ศาลยังให้บำเพ็ญประโยชน์สาธารณะเแทนค่าปรับ แต่พวกเขาต้องเสียเวลาในการทำงานเลี้ยงชีพ รวมทั้งต้องรายงานตัวคุมประพฤติอีกหลายปี ผลพวงนี้มันก็มาจากคำสั่งรัฐประหารที่ชาวบ้านได้รับ  

สมนึก กล่าวต่อว่า การรัฐประหารทุกในหลายครั้งที่ผ่านมาจะมีนโยบายเกี่ยวกับการทวงคืนผืนป่า จัดการทรัพยากร ในเมื่อเขา(คณะรัฐประหาร)มีอำนาจ เขาก็ทำ แต่ในการทำแต่ละครั้งมันไม่เสร็จสิ้นในตัวมันเอง ตัวอย่าง รัฐประหาร 2534 ก็มีการประกาศเขตอุทยาน แต่ก็เกิดปัญหาตามมาคือชาวบ้านยังมีพื้นที่ทับซ้อนอยู่ หลังจากนั้นการรัฐประหารทุกครั้งก็จะมีนโยบายแบบนี้ จนมาถึง รัฐประหาร 2553 ก็ยังมีปัญหาอย่างที่เราเจอ ไล่มาจนการออกกฏหมายเกี่ยวกับทรัพยากรที่ผ่านสภาจากรัฐประหาร 

“ปัญหาของมันก็คือ กระบวนการต่างๆมันไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามคำสั่งของรัฐประหารได้ มันก็จะเป็นปัญหาต่อไปอีกเรื่อยๆ ไม่รู้จบ” ทนายความกล่าว 

ชาวบ้านซับหวาย 14 คน ที่ถูกดำเนินคดีจากนโยบายทวงคืนผืนป่า คำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 จำนวน 14 คน รวม 19 คดี เครดิตภาพ: สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

7 ปีผ่าน รัฐประหาร ที่ชาวบ้านไม่อยากจำ 


 25 พฤษภาคม 2564 นิตยา ตั้งหน้าตั้งต่อรอเยี่ยมผู้ต้องขัง ปัทมา โกเม็ด และ สมพิตร แท่นทอง ชาวบ้านซับหวายที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำจังหวัดชัยภูมิ เข้าไปอยู่ใน้นั้นกว่า 10 วันแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ไวรัสโควิด -19 ที่ยังมีการระบาดอย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่เรือนจำจึงได้เปิดช่องทางการเยี่ยมผู้ตั้งต้องขังผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์(Line)

ก่อนถึงเวลา เธอได้รวบรวมคำถามและความห่วงใยจากพี่น้องชาวบ้านซับหวาย เพื่อได้โทรไลน์หาผู้ต้องขัง แต่เมื่อถึงเวลา เจ้าหน้าที่แจ้งกับเธอว่า เนื่องจากทั้งสองคนต้องกักตัวแยกห้องขัง เพื่อคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ทำให้ยังไม่สามารถเยี่ยมทางไลน์ได้ 

“เขาไม่ให้เยี่ยม เขาบอกว่า พี่ปัทมา กับตาสมพิตร ต้องกักตัว 1 เดือน ถึงจะให้เยี่ยมทางไลน์ได้ เราก็ได้แต่เป็นห่วง ยิ่งมีข่าวในคุกติดโควิดเยอะ เราก็เป็นห่วงมาก เพราะในนั้นมันแออัด”นิตยา กล่าว 

เวลาผ่านไป 7 ปี สำหรับการรัฐประหารปี 2557 ที่มาพร้อมคำสั่ง คสช. ที่ 64/2257  ทวงคืนผืนป่า ที่ชาวบ้านซับหวายไม่อยากจำ ในวันนี้ถึงแม้คำสั่งดั่งกล่าวได้ถูกยกเลิกแล้ว หัวหน้า คสช.ในวันนั้น ได้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง 

แต่สำหรับนิตยา ยังรู้สึกว่า ทุกวันยังต้องทนทุกข์ทรมาน จากคำสั่งของคณะรัฐประหาร ที่ชาวบ้านซับหวาย ยังรู้สึกว่ามันอยู่ในยุครัฐประหาร ยุคที่อำนาจนิยม มาจากปลายกระบอกปืน ผลพวงของมันทำร้ายชีวิตเรา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

“รัฐประหาร คือ อาชญากรรมที่เลวร้ายที่สุด สำหรับชาวบ้านซับหวาย”นิตยา กล่าว   

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง :

ศาลชัยภูมิสั่งจำคุกคดีรุกป่า “ปัทมา โกเม็ด” บ้านซับหวาย โดยไม่รอลงอาญา

ภรรยา “สมพิตร แท่นทอง” ร่ำไห้ หลังจำคุก ชาว จ.ชัยภมิ โดยไม่รอลงอาญา

สุวลี โพธิ์งาม : ชะตาชีวิตหลังถูกจำคุกคดีบุกรุกป่าซับหวาย กับการตกงานจากวิกฤตโควิด-19

ขอสิทธิที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารกลับคืนให้ชาวบ้านซับหวาย ชัยภูมิ

ภาคประชาสังคม 226 ทั่วโลก ร้องรบ.ไทยรับรองสิทธิในที่ดินชุมชนบ้านซับหวาย ชัยภูมิ

image_pdfimage_print