สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ นำเสนอผลการประเมินกลางเทอมรัฐบาลประยุทธ์ 2 ในวาระครบรอบ 2 ปี ในการจัดตั้งคณะรัฐบาล โดยเฉพาะผลงานด้าน การควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซัน 

ในรายงานการประเมินดังกล่าวประกอบด้วย 3 หัวข้อใหญ่ คือ 1.การควบคุมการระบาดโควิด-19  2.การบริหารจัดการวัคซีน 3.สรุปผลการประเมิน โดยในหัวข้อที่ 2. การบริหารจัดการวัคซีน ทีดีอาร์ไอ ได้ประเมินในหัวข้อย่อยที่ 2.2 การกระจายวัคซีน และกล่าวถึงตัวอย่างจังหวัดบุรีรัมย์ว่า

รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์ในการจัดลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยให้ความสำคัญในระดับสูงต่อผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนกลุ่มแรงงานโดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  ซึ่งเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองระบบสุขภาพ การป้องกันความสูญเสียจากการเสียชีวิตหรือป่วยหนักของกลุ่มเสี่ยง และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ  

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายมีความพร้อมในการฉีดวัคซีนในระดับค่อนข้างสูง โดยสามารถฉีดวัคซีนได้ในระดับเกือบ 3 แสนโดสต่อวันในวันธรรมดา และเมื่อเกิดการระบาดในวงกว้างใน กทม.และปริมณฑล  รัฐบาลก็เพิ่มการระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งน่าจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตโดยรวมได้มากกว่าการเร่งฉีดให้แก่ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ซึ่งมีการระบาดต่ำ ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ดีในระดับหนึ่ง   

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญในการกระจายวัคซีนก็คือ การขาดความเป็นเอกภาพ โดยพรรคร่วมรัฐบาลได้แย่งบทบาทกันในการกระจายวัคซีน ทำให้เกิดหลายช่องทางในการลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน ทั้งช่องทางของหมอพร้อม ระบบประกันสังคม (มาตรา 33) แพลตฟอร์มไทยร่วมใจ และการลงทะเบียนแบบ on site โดยไม่มีกลไกการประสานงานที่ดี  นอกจากนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนตามช่องทางดังกล่าวยังสามารถจัดลำดับการฉีดวัคซีนเอง โดยไม่มีกลไกติดตามและกำกับให้เป็นไปตามลำดับตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้  

ผลที่เกิดขึ้นก็คือการกระจายวัคซีนบิดเบี้ยวไม่เป็นไปตามลำดับความสำคัญตามยุทธศาสตร์ ดังปรากฏว่า

 บางจังหวัดเช่น บุรีรัมย์มีการฉีดวัคซีนมากเป็นลำดับที่ 11 ของประเทศ ณ วันที่ 7 ก.ค. โดยมีการฉีดวัคซีนทั้งหมดประมาณ 3 แสนเข็มหรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากร แม้ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดสูง ไม่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลักและไม่อยู่ในกลุ่มจังหวัดที่มีความเร่งด่วนในการได้รับวัคซีนตามแผนการกระจายวัคซีนที่กรมควบคุมโรคได้ประกาศในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม (ดูตารางที่ 1) 

นอกจากนี้ ยังมีการลัดคิวในการฉีดวัคซีนมากมาย โดยใช้เงินบริจาคหรือสายสัมพันธ์กับผู้บริหารโรงพยาบาลที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน จึงทำให้ผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีน    ตารางที่ 2 แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนการได้รับวัคซีนเข็มแรกของทั้งสองกลุ่มอยู่เพียงระดับร้อยละ 12.9 และ 15.6 ของจำนวนเป้าหมาย ณ วันที่ 6 ก.ค.

ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงหรือแม้กระทั่งน้อยกว่ากลุ่มประชาชนทั่วไปที่อัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกอยู่ที่ร้อยละ 14.1 ของจำนวนเป้าหมาย การจัดสรรวัคซีนที่บิดเบี้ยวนี้น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการสูญเสียจากการป่วยหนักและการเสียชีวิตของประชาชนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ดังจะเห็นได้จาก “อัตราการตายส่วนเกิน” (excess mortality)ของประชากรกลุ่มสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างมากดังที่กล่าวมาแล้ว

ตารางที่ 1 จังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนสะสมต่อประชากร 100 คน 15 อันดับแรก (ณ วันที่ 7 ก.ค.  2564)

ที่มา: คณะผู้ประเมิน, รวบรวมจากข้อมูลของกรมควบคุมโรคและสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ตารางที่ 2 แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนการได้รับวัคซีนเข็มแรกของทั้งสองกลุ่มอยู่เพียงระดับร้อยละ 12.9 และ 15.6 ของจำนวนเป้าหมาย ณ วันที่ 6 ก.ค.

ที่มา: ฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (MOPH Immunization Center)

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :

เครดิตรปูภาพ : สาธารณะสุขจังหวัดบุรีรัมย์ , อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามการฉีดวัคซีนโควิด 19 จ.บุรีรัมย์ วันที่ 13 มิถุนายน 2564 ที่สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต 

image_pdfimage_print