ขอนแก่น – กองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ดคัดเลือกบุคคลน่าประทับใจ จำนวน 6 คน แบ่งเป็นชาย 3 คนและหญิง 3 คน โดยคัดเลือกจากผู้ที่เคยเป็นข่าวในเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ดในปีที่ผ่านมา ที่มีความโดดเด่นด้านการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย การปกป้องสิทธิมนุษยนชน สิทธิชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา สมาชิกกลุ่มดาวดิน ผู้ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนและเป็นผู้ต้องขังคดีหมิ่นเบื้องสูง

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” อายุ 26 ปี นักเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และต่อต้านการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) นายจตุภัทร์เคยแสดงความเห็นว่า หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ประชาชนจำนวนมากถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพจากรัฐบาล และยังมีการออกกฎหมายที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน

ตลอดปี 2560 นายจตุภัทร์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เหตุการณ์ที่ทำให้ไผ่สูญสิ้นอิสระภาพเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2559 เมื่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ยื่นคำร้องขอถอนประกันนายจตุภัทร์ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์โดยอ้างว่านายจตุภัทร์ได้เย้ยหยันอำนาจรัฐ

ข้อกล่าวหาของไผ่ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2559 ผู้แจ้งความคือ พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี (ยศในขณะนั้น) รองหัวหน้ากองยุทธการ มณฑลทหารบกที่ 23 ขอนแก่น เข้าแจ้งความต่อ สภ.เมืองขอนแก่น และตำรวจขอศาลจังหวัดขอนแก่นจึงออกหมายจับต่อมา

นายจตุภัทร์ถูกข้อกล่าวหาจากการแบ่งปัน (แชร์) บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของสำนักข่าวบีบีซีไทย ร่วมกับบุคคลอื่นอีกกว่า 2,800 คน แต่ไม่มีผู้ใดถูกดำเนินคดี รวมถึงสำนักข่าวบีบีซีไทยเจ้าของบทความ

หลังศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งถอนประกันนายจตุภัทร์เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2559 นายจตุภัทร์ไม่ได้รับสิทธิปล่อยชั่วคราวเพื่อออกมาสู้คดีตามสิทธิของผู้ต้องหาอีกเลย ถึงแม้ว่าครอบครัวและทนายความจะยื่นขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสิ้น 10 ครั้งก็ตาม ทำให้การสอบรายวิชาสุดท้ายของการเรียนมหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรีของนายจตุภัทร์ต้องสอบภายในห้องขัง

กระบวนการพิจารณาคดีของไผ่ ศาลขอนแก่นได้สั่งให้พิจารณาลับตั้ง

แต่แรก โดยห้ามไม่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีเข้าร่วมรับฟัง ซึ่งแตกต่างจากการพิจารณาคดีตามปกติที่ไม่ได้พิจารณาเป็นการลับ

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2560 ศาลนัดสิบพยานโจทก์ครั้งที่ 3 แต่นายจตุภัทร์ขอรับสารภาพ ศาลจึงตัดสินจำคุก 5 ปี แต่ลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน เนื่องจากไผ่รับสารภาพ

นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดานายจตุภัทร์ กล่าวหลังจากศาลตัดสินจำคุกลูกชายว่า ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ก่อนที่ศาลจะพิพากษาตัดสิน ศาลได้เรียกนายจตุภัทร์และครอบครัวไปคุยเกี่ยวกับคดีความ ซึ่งไม่ได้คุยแบบที่ตกลงกันไว้ ที่คุยกับศาลก็คือ โทษจำคุกหากนายจตุภัทร์รับสารภาพไม่ใช่ 5 ปี แต่ตนขอไม่ลงรายละเอียด

การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ทำให้นายจตุภัทร์ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwang Ju Prize for Human Rights) ประจำปี 2560

จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเกาหลีใต้

นายจตุภัทร์เป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ต่อจากนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้รับรับรางวัลเมื่อปี 2549

ปัจจุบัน นายจตุภัทร์ถูกคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น โดยยังมีคดีติดตัวจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอีกหลายคดี คดีที่ถึงนัดพิจารณาคดีต่อไปคือ คดีชูป้ายต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น โดยเหตุเกิดขึ่้นเมื่อปี 2558 ทั้งนี้ ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 นัดสืบพยานโจทก์ต่อ ในวันที่ 22 มี.ค. 2561

นายศตานนท์ ชื่นตา สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส

นายศตานนท์ ชื่นตา

นายศตานนท์ ชื่นตา อายุ 36 ปี ชาวบ้านโพนทอง ต.นาแต้ อ.คำตากล้า จ.สกลนคร สมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ผู้เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการสำรวจและขุดเจาะเหมืองแร่โปแตช ในพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เนื่องจากกังวลว่าการทำเหมืองแร่โปแตชอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่

การเคลื่อนไหวของนายศตานนท์ทำให้เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2560 เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วานรนิวาส แจ้งกล่าวข้อหาทำผิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะและกฎหมายจราจร กรณีนายศตานนท์ร่วมกับกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสและเครือข่ายจัดขบวนแห่เพื่อเชิญชวนคนเข้าร่วมงาน “สืบชะตาห้วยโทง” งานบุญสืบชะตาอ่างห้วยโทง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2560

ต่อมา เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2560 นายศตานนท์ได้เดินทางเพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและยืนยันจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด เนื่องจากไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา อีกทั้งงานสืบชะตาห้วยโทงก็ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง

“ผมไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมหรือเป็นแกนนำชาวบ้านตามที่ถูกกล่าวหา ผมเพียงแค่ไปร่วมงานในวันดังกล่าวเหมือนกับประชาชนคนอื่นๆ” นายศตานนท์กล่าว

นายศตานนท์กล่าวอีกว่า ในวันรับทราบข้อกล่าวหา ตำรวจพยายามให้ตนรับสารภาพและเสียค่าปรับ 5,000 บาท เพื่อให้คดีจบ แต่ตนยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดและขอต่อสู้คดีในชั้นศาล

เกือบหนึ่งเดือนต่อมา เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2560 พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายศตานนท์ พร้อมส่งสำนวนการสอบสวนไปให้อัยการจังหวัดสว่างแดนดินพิจารณาสั่งฟ้องคดี ทำให้นายศตานนท์ต้องเข้าพบอัยการเป็นครั้้งแรกในชีวิต

อัยการจังหวัดสว่างแดนดินนัดนายศตานนท์เข้าพบเพื่อฟังการพิจารณาสำนวนคดี ว่าจะมีคำสั่งฟ้องคดีหรือไม่ครั้งแรกในวันที่ 27 เม.ย. 2560 แต่ได้เลื่อนนัดออกไป เนื่องจากอยู่ระหว่างส่งสำนวนและจดหมายขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาให้สำนักงานอัยการภาค 4 พิจารณา

จากนั้น อัยการจังหวัดสว่างแดนดินได้นัดหมายนายศตานนท์ให้เข้าพบอีก 7 ครั้ง แต่ก็ได้เลื่อนนัดทุกครั้ง โดยการนัดหมายครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 16 ก.พ. ที่จะถึงนี้

อนึ่ง นายศตานน์เป็นผู้เข้าร่วมอบรมโครงการอบรมนักข่าวภาคอีสานของเดอะอีสานเรคคอร์ด ประจำปี 2560 โดยมีผลงานข่าวและบทความเผยแพร่ทางเว็บไซต์หลายชิ้นด้วยกัน

นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม

นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อายุ 51 ปี อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม ผู้ทำงานวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมในภาคอีสาน ในประเด็นความยุติธรรมจากการพัฒนาและความยุติธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กรณีเหมืองทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย กรณีขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมบ้านนามูล ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น โครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร และปัญหาที่สิทธิดินทำกินในประชาชนในภาคอีสาน

นายไชยณรงค์แสดงความเห็นทางวิชาการหลายครั้งในรอบปี 2560 นายไชยณรงค์ กล่าวบนเวทีเสวนาสาธารณะ “สิทธิชุมชน ความท้าทายและอำนาจในการจัดการทรัพยากร” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2560 ถึงสาเหตุของปัญหาความยุติธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมในภาคอีสานว่า เกิดจากแนวทางเศรษฐกิจของรัฐที่อยู่ภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ หลักการของลัทธิเสรีนิยมใหม่คือ การลดบทบาทรัฐให้เหลือน้อยที่สุด หากจะมีบทบาทก็เป็นบทบาทที่เอื้อประโยชน์กับนายทุนเพื่อให้ทุนสะสมต่อไป เช่น กรณีป่ากระทิงแดง จ.ขอนแก่น กรณีเหมืองโปแตช จ.สกลนคร เหมืองทองคำ จ.เลย และการขุดเจาะปิโตรเลียมในอีสาน ที่มีเพียงไม่กี่บริษัทที่จะได้ใช้ทรัพยากรนั้น ส่งผลกระทบทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายอย่างมโหฬาร

กรณีโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2560 นายไชยณรงค์และเพื่อนนักวิชาการได้ร่วมนำเสนอความเห็นต่อการก่อสร้างต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านอุตสาหกรรมและสาธารณนูปโภค สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรุงเทพฯ

เดอะอีสานเรคคอร์ดสอบถามนายไชยณรงค์ภายหลัง ได้ความว่า เขาและเพื่อนนักวิชาการได้ขอให้ สผ. ทบทวนร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของการก่อสร้างโรงงานฯ เพราะการทำอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยจำนวนมาก ซึ่งจะทำลายระบบนิเวศและทำลายสิ่งแวดล้อม แต่คณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านอุตสาหกรรมฯ ไม่ได้รับฟังข้อเสนอแนะจากนายไชยณรงค์

เมื่อเกิดอุทกภัยในหลายจังหวัดในภาคอีสาน ในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2560 นายไชยณรงค์ได้ แสดงความคิดเห็นถึงต้นเหตุที่ทำให้การระบายน้ำล่าช้าจนเกิดน้ำท่วมขังว่า เกิดการสร้างเขื่อน การสร้างพนังกั้นน้ำ และการทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้น้ำระบายไม่สะดวก พร้อมเสนอให้ควรยกเลิกเขื่อน เปลี่ยนมาใช้วิธีบริหารจัดการน้ำให้ยึดโยงกับธรรมชาติ

“การเขื่อนที่สร้างในที่ลุ่มมักจะกีดขวางทางน้ำธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องการระบายน้ำและการสร้างพนังกั้นน้ำเป็นการปิดกั้นการระบายของน้ำจากแม่น้ำสายใหญ่เข้าไปยังพื้นที่รับน้ำรอบๆ ส่งผลให้กระแสน้ำไหลด้วยความรวดเร็วและรุนแรง” นายไชยณรงค์กล่าว

ความเคลื่อนไหวของนายไชยณรงค์ในรอบปีที่ผ่านมา จึงเป็นเครื่องยันถึงการเป็นนักวิชาการที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อมในภาคอีสานได้อย่างชัดเจน

นางสุภาพ คำแหล้ (เสื้อเขียว) ภรรยานายเด่น คำแหล้ นักต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน

นางสุภาพ คำแหล้

นางสุภาพ คำแหล้ อายุ 67 ปี นักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิในที่ดินทำกิน กรณีพื้นที่หมู่บ้านโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ พื้นที่ที่เกิดข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าป่าไม้ หลังรัฐประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามทับที่ดินทำกินของประชาชน ในเขตพื้นที่บ้านโคกยาว เมื่อปี 2516

นางสุภาพคือหนึ่งในผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อยืนยันว่า ตนมีสิทธิในที่ดินทำกินดังกล่าว เพราะตนได้เข้ามาทำกินในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2511 ก่อนที่รัฐจะประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติในปี 2516 แต่การเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิในที่ดินทำกินกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้นางสุภาพถูกฟ้องร้องฐานทำผิด พ.ร.บ. ป่าไม้ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ในปี 2554

การพิจารณาคดีในฃั้นศาลยืดเยื้อเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2560 ศาลฎีกาได้ตัดสินจำคุก 6 เดือน ต่อมา เรือนจำอำเภอภูเขียว จ.ชัยภูมิ ได้ปล่อยตัวนางสุภาพหลังจากถูกคุมขังครบตามกำหนดเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2561 นางสุภาพกล่าวหลังออกจากเรือนจำว่า “จะไม่ยอมถอยอย่างแน่นอน”

“ความยุติธรรมยังไม่ปรากฏชัด จึงต้องต่อสู้เพื่อความมั่นคงในผืนดินร่วมกับสมาชิกชุมชนโคกยาวต่อไป” นางสุภาพ

นางสุภาพเป็นภรรยาของนายเด่น คำแหล้ แกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน และประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งหายตัวไปหลังจากเข้าไปหาหน่อไม้และไม้หวายบริเวณสวนป่าโคกยาว รอยต่อระหว่างป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 2559

การหายตัวไปของนายเด่นนั้น ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับการที่นายเด่นเป็นแกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินในพื้นที่ และนายเด่นเคยมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่ นายเด่นยังถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานบุกรุกป่าสงวนฯ เมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นคดีเดียวกันกับคดีของนางสุภาพ

น.ส.ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลภาคอีสาน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

น.ส.ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์

น.ส.ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ อายุ 30 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ปฏิบัติหน้าที่สังเกตการณ์ และบันทึกเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคอีสาน หนึ่งในจำเลยคดี “พูดเพื่อเสรีภาพ” คดีความที่ถูก พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี (ยศขณะนั้น) รองหัวหน้ากองยุทธการ มณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น แจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น ดำเนินคดีในข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และขัดคำสั่งคณะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 จากกรณีจัดเสวนาเรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญ “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น” เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2559 โดยคดีดังกล่าวอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลทหารมลฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น

น.ส.ดวงทิพย์ ยืนยันจะขอสู้คดีให้ถึงที่สุด เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นไม่ผิดตามที่ถูกกล่าวหา เพราะในวันจัดงาน น.ส.ดวงทิพย์ ทำหน้าที่นักสังเกตการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในงานเท่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวกับผู้จัดงาน

“รู้สึกไม่เป็นธรรมตั้งแต่แรก เพราะรู้ว่าตัวเราไม่ผิด แล้วทำไมถึงจะต้องยอมถูกปรับทัศนคติ เพราะการยอมถูกปรับทัศนคติเท่ากับยอมรับว่าทำผิด” น.ส.ดวงทิพย์กล่าว

ในวันนั้น น.ส.ดวงทิพย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดงานแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์การจัดกิจกรรมและบันทึกข้อมูล ว่าหากงานดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารละเมิดสิทธิผู้จัดงานและผู้ร่วมงานหรือไม่

“มีเจ้าหน้าที่ทำหาร ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบหลายนายมาร่วมงานจำนวนมาก และจะคอยเข้ามากดดันคนจัดงานเรื่อยๆ จึงกังวลว่าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอะไรหรือไม่ แต่ก็ไม่เห็นว่าเจ้าหน้าที่จะใช้กำลังหรือใช้ความรุนแรงอะไร” น.ส.ดวงทิพย์กล่าว

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2560 ศาลทหารมทบ.23 รับฟ้องคดี ทำให้ น.ส.ดวงทิพย์และจำเลยคนอื่น รวม 8 คนถูกควบคุมตัวเข้าสู่เรือนจำระหว่างรอพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวในที่สุด

น.ส.ดวงทิพย์เล่าว่า ช่วงที่ถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำนั้น ตนรู้สึกถูกละเมิดสิทธิซ้ำซ้อน เพราะผู้คุมในเรือนจำพูดจาไม่ดี ใช้อารมณ์ รวมถึงถูกตรวจร่างกาย และต้องเปลือยกายให้เจ้าหน้าที่ผู้คุมดู การเปลือยกายให้เจ้าหน้าที่ดูสำหรับตนนั้นคิดว่า ทำให้สูญเสียความเป็นมนุษย์ รู้สึกไม่น่ายินดี

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น

นัดสอบคำให้การจำเลยในคดีนี้ น.ส.ดวงทิพย์ให้การต่อตุลาการศาลทหารว่า จะขอต่อสู้คดีเพื่อขอพิสูจน์ว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา

ปัจจุบัน น.ส.ดวงทิพย์เป็นผู้สังเกตการณ์และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประชาชน นักการเมือง และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองในภาคอีสาน โดยเริ่มงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2557 ก่อนหน้านั้น น.ส. ดวงทิพย์ เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายระดมทุนของมูลนิธิกรีนพีซ ประเทศไทย

นางยวนจิตร ไชยรักษ์ สมาชิกกลุ่มคนรักษ์น้ำอูน กลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร

นางยวนจิตร ไชยรักษ์

นางยวนจิตร ไชยรักษ์ อายุ 67 ปี สมาชิกกลุ่มคนรักษ์น้ำอูน เป็นนักปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ถูกฟ้องร้องเพื่อให้ยุติความเคลื่อนไหว แต่นางยวนจิตรเลือกที่จะไม่ถอย กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อบริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้า แจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ต่อนางยวนจิตรในเดือนมีนาคม ปี 2560

การแจ้งความเกิดขึ้นเนื่องจากนางยวนจิตรเป็นแกนนำประชาชนเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวิมวลในพื้นที่ ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ เนื่องจากหวั่นเกรงว่าพื้นที่ป่าจะถูกกว้านซื้อแผ้วทางเพื่อแปรสภาพเป็นไร่อ้อย เพื่อรองรับโรงงานน่้ำตาลขนาด 12,500 ตันอ้อยต่อวัน และโครงการไฟฟ้าชีวมวลขนาด 48 เมกะวัตต์

ขณะที่บริษัทกล่าวหาว่า นางยวนจิตรหลอกลวงให้ประชาชนในพื้นที่มาลงชื่อคัดค้านการก่อสร้างโครงการของบริษัท จนทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง และถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

นางยวนจิตรชี้แจงว่า ตนลงลายมือชื่อในหนังสือคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะไม่เห็นด้วยที่โรงงานจะมาสร้างใกล้บ้านที่ของตน แต่ตนไม่เคยแอบอ้างเอารายชื่อคนในชุมชนใส่ไปในรายชื่อผู้คัดค้านโรงงานตามที่ถูกกล่าวหา

ทั้งนี้ กลุ่มคนรักษ์น้ำอูนเริ่มเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2559 เนื่องจากเห็นว่าบริษัทฯ ได้บุกเบิกพื้นที่ป่าและปรับพื้นที่ ส่งผลให้ถนนและลำห้วยสาธารณะเสียหาย และหากโครงการก่อสร้างดังกล่าวเกิดขึ้นในพื้นที่จริง อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชน

ต่อมา เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ปี 2560 บริษัทฯ ได้ไกล่เกลี่ยกับกลุ่มคนรักษ์น้ำอูนที่ถูกฟ้อง โดยขอให้ฝ่ายจำเลยถอนเรื่องการคัดค้าน หากฝ่ายจำเลยตกลง โจทก์จะถอนฟ้องคดี ทั้งนี้ มีจำเลยบางคนยอมรับเงื่อนไข ขณะที่นางยวนจิตรและจำเลยจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ปี 2560 ศาลจังหวัดสกลนครนัดไต่สวนมูลฟ้อง แต่บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีต่อศาล ศาจจึงอนุญาตให้ถอนฟ้องคดีทั้งหมด โดยบริษัทฯ ให้เหตุผลว่าต้องการให้เกิดความปรองดองในการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ ระหว่างบริษัทฯ กับสมาชิกกลุ่มคนรักษ์น้ำอูน

นางยวนจิตรกล่าวว่า ถึงแม้จะมีการถอนฟ้องคดี แต่ตนก็ยืนยันจะต่อสู้ในเรื่องสิทธิและสิ่งแวดล้อมต่อไป เพราะยังกังวลว่าถ้าบริษัทฯ ตั้งโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ อาจทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ประชาชนช่วยกันอนุรักษ์ไว้

กรณีฟ้องร้องดังกล่าว นายวิเชียร อันประเสริฐ อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มองว่าเป็นการฟ้องร้องคดีเพื่อกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือ SLAPPs (Strategic Lawsuit Against Public Participations) และจะทำให้นักเคลื่อนไหวต้องไปสถานีตำรวจ ไปขึ้นศาลเพื่อสู้คดี ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการต่อสู้ ในที่สุด จะทำให้ประชาชนไม่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นนั้น

 

 

image_pdfimage_print