ตอนจบของบทความ ‘ศิลา วงศ์สิน’ จากสายตาเบี้ยล่างประวัติศาสตร์ พาผู้อ่านย้อนไปฟังเสียงของกบฎผีบุญ ผ่านบทสัมภาษณ์ที่มีอยู่เพียงน้อยนิดในหนังสือพิมพ์ ของผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นขบฎและถูกประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 ในยุคของจอมพลพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

อิทธิพล โคตะมี เรื่อง

หมายเหตุ : บทความนี้เคยเผยแพร่บนเว็บไซต์ The Isaan Record เมื่อ 29 สิงหาคม 2017

จากตอนที่หนึ่ง เราได้เห็นคำอธิบายต่อกรณีศิลา วงศ์สิน ในสองแนวทาง คือ หากไม่เป็นผีบุญหลอกลวงชาวบ้านและคิดกำเริบเสิบสาน ก็ถูกอธิบายว่า เป็นตัวอย่างขบวนการต่อต้านอำนาจรัฐส่วนกลาง

แต่ทั้งสองคำอธิบายกลับไม่มีเสียงของนักโทษประหารที่ชื่อศิลา วงศ์สิน อยู่เลย จึงน่ากลับไปพลิกอ่านหนังสือพิมพ์สารเสรีเอาเสียงศิลามาให้ได้

ธิกานต์ ศรีนารา ใช้กรอบการศึกษาประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง (Subaltern Studies) ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง (หรืออาจจะเรียกว่าประวัติศาสตร์จากเบี้ยล่าง) อันเป็นแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ที่มุ่งเน้นไปที่การเปิดเผยเสียง ความเห็น มุมมอง ประสบการณ์ของสามัญชน ชาวบ้าน หรือคนที่อยู่ใต้ถุนของสังคม ที่มีแง่มุมของการต่อสู้ ขัดขืนต่อผู้มีอำนาจ 

สำหรับการหวนกลับไปวิเคราะห์กรณีศิลา วงศ์สิน เที่ยวนี้ ธิกานต์ได้สกัดเอาข้อเท็จจริงจากกระบอกเสียงของรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั่นคือหนังสือพิมพ์สารเสรี ที่เกาะติดประเด็นศิลา วงศ์สิน อย่างต่อเนื่องตลอดเดือนมิถุนายน 2502 การกลับไปค้นคว้าเอกสารนี้อย่างละเอียด ทำให้พบแง่มุมที่น่าสนใจและเปลี่ยนข้อสรุปที่มีอยู่เดิม

หลักฐานใหม่: เสียงเล็กๆ ของศิลาใน “สารเสรี”

ในบทความเดิมได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่ากรณี “ผีบุญ” ศิลา วงศ์สิน จะเกิดขึ้นมานานแล้วและเป็นที่กล่าวถึงโดยผู้คนอยู่ไม่น้อย แต่ “เสียง” ที่แท้จริงของ ศิลา วงศ์สิน ก็ไม่เคยถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจังแต่อย่างใด เพราะถ้าหากไม่เป็นการผลิตซ้ำภาพลักษณ์ของความเป็น “ผู้ร้าย” “กบฏ” หรือไม่ก็เป็นพวก “ผีบุญ” ที่โง่เขลา แปลกประหลาดแล้ว ก็จะเป็นการอธิบายการกระทำและความคิดของศิลาโดยใช้แนวคิด “วิถีการผลิตแบบเอเชีย” ของคาร์ล มาร์กซ์ ที่ซับซ้อนและเป็นระบบ แต่ก็ดูเหมือนจะตีความเกินจริงไปหลายอย่าง

จากการสืบค้นพัฒนาการของข้อกล่าวหาจากมุมมองประวัติศาสตร์เบื้องล่าง ธิกานต์พบว่า ข้อกล่าวหาที่รัฐมีให้กับ ศิลา วงศ์สิน นั้น มีลักษณะที่รุนแรงใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ จากเพียงแค่เป็นตัวหัวหน้าที่มีส่วนในการสังหารเจ้าหน้าที่ปกครองในวันที่ 29 พฤษภาคม 2502 กลับได้ยกระดับไปเป็นบุคคลที่มี “เจตนาจะแบ่งแยกการปกครอง” จากนั้นในท้ายที่สุดก็ยกระดับใหญ่โตมากขึ้น ไปถึงขั้นกลายเป็นบุคคลผู้ก่อการร้าย” ที่ “ได้ตั้งตนเปนผู้วิเศษ และเปนกษัตริย์ ทำการซ่องสุมผู้คนเปนจำนวนมากเข้าเปนพรรคพวกเพื่อก่อการร้ายและดำเนินการอันเปนการผิดกฎหมายของบ้านเมือง” ทั้งที่เจ้าตัวไม่เคยให้การใดๆ แก่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ

เราจะพบว่า รายงานข่าว ของ สารเสรี ฉบับเดียวนี้ ไม่สามารถยืนยันได้อย่างหนักแน่นทั้งหมดว่า เรื่องใดบ้างที่ออกมาจากปากของ ศิลา วงศ์สิน จริงๆ และเรื่องใดบ้างที่ สารเสรี แต่งเสริมเติมเข้าไปตามอคติของตน ในบรรดาคำให้สัมภาษณ์ทั้งหมดใน สารเสรี

ธิกานต์เสนอว่า การให้สัมภาษณ์ของ นายต้อง พ่อตาของศิลา น้องชาย และคำให้สัมภาษณ์ของ ศิลา เอง ดูมีความน่าเชื่อถือและถูกแต่งเติมใส่สีตีไข่โดย สารเสรี น้อยที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้วงเวลาที่ศิลาจะเดินเข้าสู่หลักประหารนั้น ศิลา วงศ์สิน กล่าวกับนักข่าว สารเสรีเพียงสั้นๆ แต่ทว่าฟังดูแผ่วเบาอ่อนล้า สิ้นหวัง และน่าเศร้ายิ่งว่า

“‘ผีบุญ’ เผยคำก่อนสิ้นใจ” และในวันเดียวกันนี้เอง เวลา 12 น. เศษ “สารเสรี” ได้มีโอกาสซักถามนายศิลา “ผีบุญ” ซึ่งถูกล่ามอยู่ในห้องขัง เมื่อถูกถามว่าได้พูดคุยกับท่านนายกอย่างไรบ้าง 

นายศิลาว่าคุยหลายเรื่องและหลายคนด้วยกัน แต่ไม่ยอมเผยว่าคุยอะไร คนข่าวของเราถามว่า ถ้าหากถูกยิงเป้าจะรู้สึกอย่างไร นายศิลาว่า ตายๆ เสียก็ดีจะได้หมดเรื่อง และรู้ดีว่าจะต้องตาย “จะทำอย่างไรก็เอาเถิด ข้าปลงตกแล้ว เป็นห่วงอยู่แต่เมีย และคิดถึงเมียเหลือเกิน” 

คนข่าว; ตอนถูกคุมตัวมาที่โคราชรู้ไหมว่าตำรวจจะเอาไปไหน

นายศิลา; ถามตำรวจว่าเอาไปไหน ตำรวจก็บอกว่า ไปข้างหน้า ถามทีไรก็บอกว่า ไปข้างหน้า เลยไม่อยากถาม และนึกว่าจะตายตั้งแต่วันนั้นแล้ว

เมื่อพิจารณา “เสียง” ของศิลา จะพบเพียงว่า เขาได้ชักชวนคนเหล่านั้นอพยพไปเพียงเท่านั้น โดยบอกว่าไปหากินกันข้างหน้า ไปหาของทิพย์กินกัน นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้ศิลาและผู้ติดตามต้องไปอยู่ที่อำเภอวิเชียร จังหวัดเพชรบูรณ์และพากันเดินทางมาที่อำเภอโชคชัย ที่บ้านใหม่ไทยเจริญ ตำบลสารภี  

พาดหัวข่าวศิลา วงศ์สิน จากหนังสือพิมพ์สารเสรี วันที่ 22 มิถุนายน 2502 โปรดสังเกตกรอบเล็กด้านล่าง “‘ผีบุญ’ ในกรุง อาศัยผ้าเหลืองอบรมการเมือง” เป็นการปรับทัศนคติในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ข้อความที่ยกมาข้างต้น แม้จะเพียงสั้นๆ แต่ก็สะท้อนความจริงทางประวัติศาสตร์บางอย่าง นั่นคือ ความแห้งแล้งอย่างแสนสาหัส หากเรานำข้อความดังกล่าวมาพิเคราะห์ร่วมกับบริบทขงอำสานในช่วงเวลาดังกล่าว

การอพยพของชาวนาอีสานเพื่อไปหาที่ทำกินใหม่ที่อุดมสมบูรณ์มากกว่าที่ทำกินเก่า เป็นปรากฏการณ์ที่เสมือนว่าเป็นปกติ เกิดขึ้นมานานแล้วและยังคงเกิดขึ้นในช่วง ปลายทศวรรษ 2490 ต่อต้นทศวรรษ 2500 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ ศิลา วงศ์สิน ตัดสินใจชักชวนชาวบ้านอพยพจากที่ดินทำกินเดิมเพื่อ “ไปหากินกันข้างหน้า ไปหาของทิพย์กินกัน”

ข้อสังเกตคือ หนังสือพิมพ์ สารเสรี แม้จะเต็มเปี่ยมไปด้วยสายตาที่ดูถูกเหยียดหยาม ศิลา วงศ์สิน และผู้ติดตามเขา แต่ก็สะท้อนภาพความแห้งแล้งกันดารของชนบทอีสานและภาวะไร้ที่พึ่งของชาวนาอีสานผู้ยากจนในช่วงเวลานั้นได้ค่อนข้างชัดเจนเพราะเหตุใด

ในความเห็นของผู้เขียน คือ เป็นเรื่องที่แสนธรรมชาติ ธรรมดา เมื่อคนต้องเผชิญกับความแห้งแล้งอดอยาก แทนที่ชาวนาอีสานเหล่านี้จะหันไปพึ่งพารัฐบาลในสมัยนั้นให้มาช่วยเหลือ ก็สามารถตัดสินใจหันไปพึ่งพาและให้ความเชื่อมั่นต่อ “พระศรีอาริย์” แทนได้ ดังที่ธิกานต์เสนอว่า รัฐบาลเผด็จการ “มิได้เหลียวแล” ใส่ใจที่จะแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชนชาวอีสานอย่างจริงจังต่างหาก

หลักฐานสำคัญ คือ เมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคอีสานคนหนึ่งกล่าวขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อกลางปี 2500 รัฐบาลในสมัยนั้นไม่ได้สนใจปัญหาภัยแล้งของชาวนาอีสานจริงๆ และเมื่อชาวนาอีสานไม่สามารถพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาลของตัวเองได้ จึงไม่แปลกอะไรที่พวกเขาจะต้องหาทางแก้ปัญหากันเอาเอง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการหันไปพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพลังเหนือธรรมชาติต่างๆ

อย่างที่เรียนไปว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแทบจะเป็นปกติและเกิดขึ้นทั่วไปในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน โดยการอพยพนั้นจะทำกันเป็นแบบ “กองคาราวาน” ไปพร้อมๆ กันหลายครัวเรือน ขณะที่กองคาราวานหนึ่ง ก็มักจะมีคนไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยคน

ในกรณีนี้ธิกานต์ เสนอว่า การแสดงออกของ ศิลา วงศ์สิน ในหลายประการมีลักษณะคล้ายคลึงกับ “หมอธรรม” ที่มีอยู่ทั่วไปในชนบทอีสาน 

มีงานศึกษาของนักวิชาการบางคนได้บันทึกข้อสังเกตนี้เอาไว้ เช่น  ยูคิโอะ ฮายาชิ ที่บันทึก ข้อมูลเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้านในภาคอีสาน และอธิบายว่า “หมอธรรม” หมายถึง ฆราวาสที่เคยบวชเป็นพระมาก่อน ซึ่งได้ศึกษา “ธรรมรักษาคน” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง “หมอธรรม” เป็นผู้ชายที่มีความเชี่ยวชาญในพิธีกรรม ซึ่งเป็นผู้รอบรู้ที่จะใช้ธรรมะในการขับไล่ผีชั่วร้ายที่เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยและเคราะห์ร้าย  

หากมองในแง่นี้ ก็จะเห็นว่า ทั้งในฐานะ “หมอธรรม” และ “ผู้มีบุญ” ศิลา วงศ์สิน ก็ไม่น่าที่จะมีความผิดใดๆ ในทางกฎหมาย ความผิดสำคัญของ ศิลา วงศ์สิน มาเกิดขึ้นจากการที่เขาพาชาวบ้านจำนวนมากอพยพเข้าไปตั้งชุมชนหมู่บ้านขึ้นใหม่ในเขตที่ดินของบ้านใหม่ไทยเจริญโดยไม่ขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐเสียก่อน

ขณะที่ความผิดพลาดมากกว่านั้นคือการที่ ศิลา วงศ์สิน ขัดขืนการจับกุมของนายอำเภอและพวก และเป็นต้นเหตุให้บรรดาสานุศิษย์เข้ารุมทำร้ายนายอำเภอและพวกจนตายไปถึง 5 ศพ และเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในยุคสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นยุคสมัยที่รัฐบาลอ่อนไหวต่อปัญหาคอมมิวนิสต์เป็นอย่างสูง

ภาพ ศิลา วงศ์สิน จากหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๑๘ วันพุธที่ ๔ – วันอังคารที่ ๑๐ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓ เครดิตภาพ : koratdaily.com

เบี้ยล่างประวัติศาสตร์บอกอะไร

เมื่อพิจารณาข้อค้นพบ ในการศึกษากรณีศิลา วงศ์สิน จากสายตาประวัติศาสตร์เบื้องล่าง ของธิกานต์ ศรีนารา ผู้เขียนเห็นว่า การมองผ่านเบี้ยล่างประวัติศาสตร์ได้ฉายภาพของศิลาที่สัมพันธ์กับบริบทของสังคมอีสานได้คมชัดมากขึ้น ดังเราจะเห็นว่าในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ต่อต้นทศวรรษ 2500 นั้นภาคอีสานเกิดภัยแล้งขึ้นอย่างรุนแรง ทว่ารัฐบาลสมัยนั้นกลับเพิกเฉย 

ซ้ำร้ายด้วยการไม่สนใจที่จะให้ความช่วยเหลือต่อประชาชนชาวอีสานอย่างจริงจัง ผลก็คือชาวนาอีสานต้องหาทางหลุดพ้นจากปัญหานี้ ด้วยตนเองโดยการหันไป พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือไม่ก็พากันอพยพโยกย้ายไปหางานทำและไปหาที่ทำกินแห่งใหม่ปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในช่วงเวลานั้น

อีกร่องรอยที่น่าสนใจคือ วิธีการทำให้เสียงของคนด้อยอำนาจ เป็นเสียงที่ไม่มีเหตุมีผล และเป็นศัตรูของชาติ นั้นเป็นสิ่งที่พบเห็นในสังคมไทยได้จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าในวงวิชาการจะมีพัฒนาการในการเปิดพื้นที่ให้แก่เสียงเล็กเสียงน้อยมากมายขึ้นแล้ว แต่ดูเหมือนว่ากลไกการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนอีกช่องทางคือ สื่อมวลชน ยังคงหนีไปไม่พ้นจากอคติของการเล่าเรื่อง กรณีศิลา วงศ์สิน เป็นประจักษ์พยานอันดีที่ชี้เห็นความจริงข้อนี้ เมื่อเรื่องคอขาดบาดตายมักถูกครอบงำ โดยข้อมูลจากผู้มีอำนาจหรือสื่อมวลชนกระแสหลักที่ไม่ถูกปราบปรามจากผู้มีอำนาจ

คำถามของผู้เขียน คือ จะมีความพยายามใหม่ๆ อันใด ที่จะช่วยเปิดเสียงของเหยื่อ จำเลย แม้กระทั่งคนที่น่ารังเกียจในทางสังคม จากข้อเท็จจริงพื้นฐาน ที่พ้นไปจากผู้มีอำนาจแต่เพียงถ่ายเดียว ยิ่งในสังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ผู้มีอำนาจสวมรับบทบาททั้งโจทก์ และผู้พิพากษา ไปพร้อมๆ กัน

ภายใต้บริบทเช่นนี้ ยิ่งเรียกร้องให้เสียงเล็กๆ ควรต้องถูกรับฟังยิ่งกว่าครั้งใดๆ ใช่หรือไม่ อย่างน้อยที่สุดเพื่อให้ความยุติธรรมโดยรวมและมนุษยธรรมพื้นฐานได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเป็นเรื่องหลักมากกว่าการกล่าวหา ป้ายสี กันอย่างฉาบฉวย

จะว่าไปแล้วกรณีของศิลา มิได้ขาดแคลนการพูดถึงหลักมนุษยธรรมแต่อย่างใด ดังเราจะเห็นว่าหลังจากการประหารชีวิตศิลา ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ชายที่ติดตามเขาจำนวนหนึ่งได้ถูกตัดสินให้จำคุกหลายปี ส่วนผู้หญิงและเด็กถูกปล่อยตัวไป บางคนเดินทางกลับภูมิลำเนา ขณะที่บางคนไม่มีทั้งเงินและที่ที่จะไป

แต่บางคนก็ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยนายตำรวจใจบุญ ดังที่หนังสือพิมพ์ สารเสรี ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน 2502 พาดหัวข่าวด้วยตัวหนังสือสีแดงขนาดใหญ่ว่า “สตต.รับอุปการะเมียผีบุญ…ว่าเพื่อมนุษยธรรม”

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเร็คคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง 

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (1) : ศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ใช่รื้อฟื้นหาตะเข็บ

ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (2) – เล่าเรื่องกบฏผีบุญเมืองอุบลฯ จาก มาโนช พรหมสิงห์

ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (3) UBON AGENDA วาระวาริน: จากกบฏผีบุญถึงต้าร์ วันเฉลิม

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (4) – กลอนลำ ตำราพยากรณ์ อดุมการณ์ : อาวุธสู้รบของกบฏผีบุญกับ กทม.

ซีรีส์ชุด ผีบุญในอีสาน (5) – จากขบถผีบุญสู่ราษฎร’ 63

ซีรีส์ผีบุญในอีสาน (6) – ศึกโนนโพแห่งสะพือทุ่งสังหารอีสาน เสียงบอกเล่าครั้งสุดท้าย

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (7) – “14 ตุลา” และ “6 ตุลา” กับพลวัตการศึกษา “กบฏผู้มีบุญ” (ตอนที่ 1)

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (8) – “14 ตุลา” และ “6 ตุลา” กับพลวัตการศึกษา “กบฏผู้มีบุญ” (ตอนจบ)ซีรีส์ชุด

ผีบุญในอีสาน (9) – สองมหาอำนาจร่วมกันฆ่าล้างขบวนการผีบุญ

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (10) กบฏผีบุญและการแบ่งแยกดินแดนในมุมมองของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์

ซีรีส์ชุดผีบุญในอีสาน (11) ‘ศิลา วงศ์สิน’ จากสายตาเบี้ยล่างประวัติศาสตร์ (ตอนที่ 1)

image_pdfimage_print